ไทยพาณิชย์แนะรัฐตั้งกองทุนวิจัยใช้ยางในอุตสาหกรรม - ร่วมมือตปท.แก้ปัญหาราคายางตกต่ำศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธ.ไทยพาณิชย์ มองราคายางพาราที่ลดลง ต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก และยังมีแนวโน้มที่ราคายางพาราจะปรับลงต่อ จากภาวะผลผลิตล้นตลาด ซึ่งคาดว่าจะ ดำเนินต่อไปในช่วง 2-4 ปีข้างหน้า ภาวะราคายางพาราตกต่ำดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประเทศ และ เกษตรกรค่อนข้างมาก แต่การแก้ปัญหาของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่เพียงพอที่ จะทำให้ราคายางพาราปรับขึ้นได้ โดยศูนย์วิจัยฯ เสนอให้รัฐบาลไทยจัดตั้งกองทุน วิจัยเพื่อส่งเสริมการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากยางล้อ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยควรร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ออกมาตรการ เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา เนื่องจากการรักษาเสถียรภาพด้านราคา มีความสำคัญ ทั้งในแง่การลดความผันผวนของรายได้จากการส่งออก และสร้างเสถียรภาพด้านรายได้ ให้กับเกษตรกร
"แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของความต้องการ(ใช้ยางพารา) ยังไม่เพียงพอรองรับ ปริมาณผลผลิตยางพาราที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ประกอบกับราคายางสังเคราะห์ ยังมีแนวโน้ม ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจาก 2 ปัจจัยดังกล่าว จะส่งผลให้ราคายางพารายังมี แนวโน้มปรับลดลงในระยะต่อไป" ศูนย์วิจัยฯ ไทยพาณิชย์ ระบุในเอกสารเผยแพร่
ศูนย์วิจัยฯ ไทยพาณิชย์ ระบุว่า ในการแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลไทยควร จัดตั้งกองทุนวิจัยเพื่อส่งเสริมการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากยางล้อ เพราะยางพาราสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ ในชีวิตประจำวัน และทางการแพทย์ ได้มากมายหลายชนิด เช่น ถุงมือยาง ยางยืด และถุงยางอนามัย
แต่ความนิยมในการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมดังกล่าว ยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับการใช้ยางสังเคราะห์ เนื่องจากยางพารามีคุณสมบัติบางอย่างที่ด้อยกว่า ทำให้สัดส่วนการใช้ยางพารา คิดเป็นเพียง 30% ของการใช้ยางรวมอุตสาหกรรม ดังกล่าว
ดังนั้น การเร่งให้เกิดการวิจัยและพัฒนาคุณสมบัติยางพารา ให้มีลักษณะ ที่สามารถแข่งขันได้กับยางสังเคราะห์ พร้อมทั้งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอื่นๆ หันมาใช้ ยางพารามากขึ้น จนทำให้สัดส่วนการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ไม่ใช่ยางล้อ เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 50% ของการใช้ยางทั้งหมด จะส่งผลให้มีความต้องการบริโภค ยางพารา เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกราว 2.4 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้ตลาด ยางพาราโลก เข้าสู่ภาวะสินค้าขาดแคลนได้ในอนาคต
ขณะเดียวกัน ไทยควรร่วมมือกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ออกมาตรการ เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งแม้ว่าความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ
ทั้งนี้ เนื่องจากการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งไม่ใช่มาตรการยกระดับ ราคาให้สูงขึ้นนั้น มีความสำคัญทั้งในแง่การลดความผันผวนของรายได้จากการส่งออก และสร้างเสถียรภาพด้านรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งจะช่วยให้การวางแผนและตัดสินใจ บริโภค อยู่บนรากฐานที่สมเหตุสมผลมากขึ้น
นอกจากนี้ ราคาที่มีความผัวผวนในระดับต่ำ ยังจะส่งผลดีต่อการวางแผน บริหารจัดการต้นทุนผู้ประกอบการ ที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบอีกด้วย ราคายางในตลาดส่งมอบปัจจุบันของเอเชียส่วนใหญ่ ปรับตัวขึ้นลงแตกต่างกัน ในวันนี้ ขณะที่ยางแผ่นดิบชั้น 3(USS3) ของไทย ยังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 บาท โดยทรงตัวที่ 47 บาท/กิโลกรัม
ขณะที่สัญญายางล่วงหน้าที่ตลาดยางโตเกียวฟื้นตัวขึ้น หลังร่วงแตะระดับ ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ในช่วงเช้าวันนี้ จากความวิตกที่ยังมีอยู่เกี่ยวกับอุปสงค์ในจีน ส่วนสัญญายางตลาดเซี่ยงไฮ้ ร่วงแตะระดับต่ำสุดตลอดกาลเมื่อวานนี้ เนื่องจากความ วิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจจีน
ที่มา ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย วันที่ 24/09/14 เวลา 14:01:28