ผู้เขียน หัวข้อ: ชาวสวนตัดใจแห่โค่นไม้ยางแก่ทิ้ง มรสุมซ้ำ "ราคาไม้-น้ำยางดิ่ง-จำกัดโควตาปลูก"  (อ่าน 913 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84567
    • ดูรายละเอียด

ชาวสวนตัดใจแห่โค่นไม้ยางแก่ทิ้ง มรสุมซ้ำ "ราคาไม้-น้ำยางดิ่ง-จำกัดโควตาปลูก"


[size=78%]15 ก.ย. 2557 เวลา 12:07:07 น.[/size]
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


เคราะห์ซ้ำ..! ชาวสวนยางพาราแห่โค่นไม้ยางขาย เจอปัญหาราคาไม้ดิ่งตามน้ำยาง


ด้านกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจำกัดโควตาการสงเคราะห์ ผู้ประกอบการมั่นใจปลายปีสถานการณ์น่าจะดีขึ้น เหตุตลาดจีนเริ่มมีออร์เดอร์เข้ามา ยันราคาไม้ยางแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ ต้องไม่เกิน 2,200 บาทต่อตัน เผยไทยยังต้องพึ่งตลาดจีนกว่า 80% ของมูลค่าส่งออกปีละ 30,000 ล้านบาท






 
นายเดชา เกื้อกูล อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้สถานการณ์ไม้ยางพาราจังหวัดตรัง ถือเป็นตลาดของผู้ซื้อ เนื่องจากที่ผ่านมา ราคาน้ำยางพาราตกลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทางรัฐบาลมีนโยบายในการจำกัดปริมาณพื้นที่ปลูกยางพารา ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราหันมาโค่นไม้ยางพาราขายมากขึ้น ทำให้ปริมาณไม้ยางออกสู่ตลาดมาก ดังนั้นราคาจึงตกลงไปมากเมื่อเทียบกับช่วงที่ราคายางพารายังดี


ส่วนด้านการส่งออกนั้นมีปัญหาคือตลาดส่งออกไม้ยางพาราไทยกว่า 90% ของการส่งออกทั้งหมดอยู่ที่ตลาดประเทศจีน


"ที่ผ่านมา จีนชะลอการสั่งซื้อ ทำให้ไม้ยางในตลาดมีมาก ราคาจึงไม่ดี ทำให้เกษตรกรค่อนข้างจะเสียเปรียบหลายด้าน ทั้งด้านราคาน้ำยาง และราคาไม้ยาง อีกทั้งเมื่อโค่นแล้ว ทราบว่ายังมีปัญหาที่ทางกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (กสย.) มีการจำกัดโควตาในการสงเคราะห์ แต่ในฝั่งของผู้ประกอบการไม้ยางส่งออกไม่น่ามีปัญหามากนัก แต่ก็ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดส่งออกด้วย"


ด้านนายวิถี สุพิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ เปิดเผยว่า ราคาไม้ยางพาราในพื้นที่จังหวัดตรัง ช่วงนี้ ถือว่ายังทรงตัวอยู่ในระดับประมาณ 2,200 บาทต่อตัน (2.20 บาท/กก.) ที่ผ่านมา การส่งออกก็ชะลอตัวลงไปบ้างตามตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีน ที่ประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปต่างประเทศกว่า 80% ที่เหลือ 20% เป็นตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศที่ประเทศไทยส่งออกไม้ยางพาราเกือบทั้งหมดคือประเทศจีน


ที่ผ่านมา ตลาดจีนมีการชะลอการสั่งซื้อไม้ยางพาราลงไปบ้าง ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายในการโค่นไม้ยางพาราเพื่อลดพื้นที่ปลูกยาง ทำให้เกษตรกรเริ่มที่จะโค่นไม้ยางพารามากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณไม้ยางพาราออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น อีกทั้งตลาดจีนมีปัญหาด้านการเงินล่าช้า ทำให้การขยายตัวด้านการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างจะขยายตัวไม่มากนัก


อย่างไรก็ตาม แนวโน้มตลาดส่งออกจากนี้ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2557 น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากประเทศจีนเริ่มมีออร์เดอร์เข้ามาเกือบจะปกติแล้ว เนื่องจากต้องเร่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ออกจำหน่ายในช่วงปลายปี และหากราคาไม้ยางพารายังอยู่ในระดับตันละ 2,000-2,200 บาท ก็ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสมที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะกับไม้ชนิดอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่ง เพราะไม้ยางพารามีเนื้อสวยเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับราคาเป็นสำคัญด้วย


สำหรับมูลค่าการส่งออกไม้ยางพาราของประเทศไทยมีมูลค่าปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งปีนี้มูลค่าการส่งออกจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา


ด้านนายเส็น หมันหมาน พ่อค้าไม้ยางพาราจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ราคาไม้ยางจะขึ้น-ลงตามภาวะราคายางพารา ซึ่งในปีนี้ราคาไม้ยางเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1.80-2 บาท/กิโลกรัม ซึ่งลดลงจากปี 2556 ราคาอยู่ที่ 2.80 บาท/กก. และเคยปรับตัวสูงขึ้นถึง 3 บาท/กก.ในปี 2553-2555 ซึ่งในช่วงนั้น ราคายางพาราพุ่งสูงขึ้นถึง 180 บาท/กก.ปัจจุบันหากจำหน่ายยกสวน ราคาจะเริ่มต้นที่ประมาณ 45,000 บาท/ไร่ ขนาด 70-75 ต้น แต่ละต้นมีน้ำหนักเฉลี่ย 300 กก.


นายสุทิน พรชัยสุรีย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกไม้ยางพาราของไทยปีนี้จะมีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท ส่วนสถานการณ์ราคาไม้ยางลดต่ำลง เนื่องจากมีการโค่นยางมากขึ้น ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีนโยบายให้โค่นยางให้ได้ถึง 400,000 ไร่ ภายในปี 2558 โดยลดซัพพลายน้ำยางที่จะออกสู่ตลาด เพื่อหวังจะกระตุ้นให้ราคายางขยับสูงขึ้น


แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกยางกล่าวว่า พันธุ์ไม้ยางพาราที่ตลาดมีความต้องการมากคือพันธุ์ 600 ซึ่งนิยมเรียกว่าเป็นไม้สักขาวของเมืองไทย ทั้งนี้ ต้นยางทุกส่วนสามารถนำไปแปรรูปหรือใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด เช่น ยอด กิ่ง ก้าน ราก ใบ ลำต้น และขี้เลื่อย ซึ่งตลาดในประเทศจะป้อนวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานเฟอร์นิเจอร์ หากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวดีทั้งบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ก็จะทำให้เฟอร์นิเจอร์ไม้ยางเติบโตตามไปด้วย