ก.พาณิชย์ เผยสถานการณ์ราคายางพาราไทยครึ่งปีแรก 2557 ลดลง หลังผลผลิตยางธรรมชาติไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ก.พาณิชย์ เผยสถานการณ์ราคายางพาราไทยครึ่งปีแรก 2557 ลดลง หลังผลผลิตยางธรรมชาติไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ช่วงที่ผ่านมาคสช. รักษาเสถียรภาพราคายางพารา ด้วยการอนุมัติเงินจำนวนกว่า 6 พันล้านบาท เพื่อชดเชยให้แก่ชาวสวนยางพาราทั่วประเทศ
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ราคายางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยถือว่าเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก ทั้งนี้ราคายางพาราในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 (ม.ค.?มิ.ย.) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากปรับตัวสูงสุดในช่วงต้นปี 2554 ซึ่งสะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิตกลุ่มสินค้ายางพารา หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 20.2 นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ยางพารา (ยางแผ่นรมควัน และยางแท่ง) หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมราคาปรับลดลงเช่นกัน โดยลดลงร้อยละ 12.7
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคายางพารามีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผลผลิตยางธรรมชาติของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปี 2556 มีปริมาณผลผลิตถึง 3.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน และปริมาณผลผลิตของไทยมีสัดส่วนสูงที่สุดในโลกถึงร้อยละ 31.6 รองลงมาคืออินโดนีเซีย มีสัดส่วนปริมาณผลผลิตร้อยละ 26.6 นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมีสัดส่วนปริมาณผลผลิตสูงเช่นกัน ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวช้าบางประเทศเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวและมีความเปราะบาง รวมถึงประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิ จีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น จากวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลให้ความต้องการยางพาราของตลาดโลกลดลง และเกิดปัญหาสต็อกยางพาราอีกด้วย นอกจากนี้ การเก็งกำไรในตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และการขยายพื้นที่ปลูกของประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของไทย ส่งผลต่อราคายางพาราเช่นกัน ทั้งนี้ คาดว่าราคายางพาราในตลาดโลกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 ยังคงปรับตัวลดลงจากอุปทานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อุปสงค์มีแนวโน้มลดลง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา และช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติเงินจำนวนกว่า 6 พันล้านบาท เพื่อชดเชยให้แก่ชาวสวนยางพาราทั่วประเทศ แต่เป็นการแก้ปัญหาเพียงระยะสั้นเท่านั้น ทั้งนี้ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรจำเป็นต้องร่วมมือกัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ ภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์ยางพาราในประเทศมากขึ้น คิดค้น พัฒนาและวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมสำหรับยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยเฉพาะการผลิตสินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำ และเกษตรกรจะต้องปรับตัวโดยการลดต้นทุนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด ปลูกพืชชนิดอื่นเสริมเพื่อหารายได้เพิ่ม ตลอดจนลดการสร้างหนี้ ซึ่งการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถประกอบชีพได้อย่างมั่นคงและมีรายได้เพิ่มขึ้นในระยะยาว
ที่มา ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย วันที่ 06/08/14 เวลา 15:46:47