ผู้เขียน หัวข้อ: รายงานพิเศษ : สถานีพัฒนาที่ดินสตูลหนุนชาวสวนยางใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน  (อ่าน 1458 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84883
    • ดูรายละเอียด

รายงานพิเศษ : สถานีพัฒนาที่ดินสตูลหนุนชาวสวนยางใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน


สถานีพัฒนาที่ดินสตูลหนุนชาวสวนยางใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน


ช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต


จังหวัดสตูลมีสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการปลูกยางพารา ทำให้มีเกษตรกรที่ประกอบอาชีพทำสวนยางพาราจำนวนมาก แต่ด้วยภาวะที่มีการแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยเคมีปริมาณมากเพื่อเพิ่มผลผลิต ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของพืชและส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน


นายมงคล ทองจิบ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสตูล สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า สถานีพัฒนาที่ดินสตูลได้ทำโครงการเพิ่มผลผลิตยางพาราตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากงบกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราสามารถเพิ่มผลผลิตยางพาราได้แบบต้นทุนต่ำ มีการใช้ปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะมีการใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมี สำหรับโครงการนี้แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 เก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์เพื่อให้คำแนะนำเกษตรกรในเรื่องการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เช่น ดินในแปลงของเกษตรกรมีธาตุอาหารฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แต่ขาดธาตุอาหารไนโตรเจนก็จะแนะนำให้เติมแค่ปุ๋ยยูเรียอย่างเดียว หรือถ้าขาดความอุดมสมบูรณ์ก็ให้ใช้ปุ๋ยพืชสดอย่างปอเทืองหรือถั่วพร้าปลูกเพื่อไถกลบเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น


กิจกรรมที่ 2 การผลิตน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่ง พด.ของกรมพัฒนาที่ดินและทำแปลงสาธิต ซึ่งได้เลือกพื้นที่เกษตรกรเพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการดินโดยใช้กระบวนการของกรมพัฒนาที่ดินแบบเต็มรูปแบบ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพารา ตั้งแต่การผลิตน้ำหมักชีวภาพจากการนำเศษซากพืช เศษปลาหรือวัสดุเหลือใช้ในการเกษตรและครัวเรือนมาหมักร่วมกับสารเร่ง พด.2 ประมาณ 7-21 วัน ใช้ฉีดพ่นในสวนยางอัตรา 1:50 (น้ำหมักชีวภาพ:น้ำ) โดยฉีดพ่นตามใบ โคนต้นและรอบบริเวณผิวดินเดือนละครั้ง ซึ่งจะช่วยให้หน้ายางกรีดง่าย เปอร์เซ็นต์น้ำยางเพิ่มขึ้น 35-40% นอกจากนี้ บางพื้นที่ที่ประสบปัญหาเชื้อราทำลาย ทำให้ใบยางร่วง หน้ายางแห้ง จะแนะนำให้ใช้ สารเร่ง พด.3 จำนวน 1 ซอง ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ 100 กก. รำข้าว 5 กก. ใส่รอบโคนต้น อัตราประมาณ 5 กก./ไร่ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่ต้นยางจะถูกทำลายเสียหายได้ ทั้งนี้ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพทดแทนเคมียังช่วยให้โครงสร้างดินดีขึ้นและเหมาะสมต่อการปลูกยางพารามากขึ้น


กิจกรรมที่ 3 คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ โดยการอบรมเกษตรกรชาวสวนยางพาราให้สามารถนำวิธีการต่างๆ ไปใช้ในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อคัดเลือกแปลงเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จตามโครงการจัดการดินเพื่อเพิ่มผลผลิตยางพาราตามค่าวิเคราะห์ดิน สำหรับนำไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรกลุ่มอื่น และประชาชน ผู้สนใจต่อไป


?จากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดสตูล พบว่าเกษตรกรชาวสวนยางให้ความสนใจจำนวนมาก เนื่องจากช่วยให้เขาลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้จริง ซึ่งแต่ละเปอร์เซ็นต์น้ำยางที่เพิ่มขึ้นมาก็หมายถึงรายได้ที่เกษตรกรจะได้รับ ดังนั้น เกษตรกรท่านใดที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามขอคำแนะนำหรือขอรับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ติดต่อได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินสตูล? นายมงคล กล่าวย้ำ


ขณะที่ นางร่มหยัน แหอาหลี ประธานกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะมารวมกลุ่มทำปุ๋ย ตนและชาวบ้านในตำบลท่าแพที่ประกอบอาชีพทำการเกษตร สวนผลไม้ สวนยางพารา และทำนานั้นประสบปัญหาเรื่องปุ๋ยเคมีแพง ทำให้รายได้ในการทำการเกษตรไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน จึงเริ่มหันมามองว่าควรจะทำปุ๋ยไว้ใช้เอง ประกอบกับสถานีพัฒนาที่ดินสตูล ได้เข้ามาถ่ายทอดความรู้พร้อมสนับสนุนปัจจัยในการผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพจากสารเร่ง พด.ต่างๆ ดังนั้นในปี 2547 จึงได้รวมกลุ่มสมาชิกในหมู่บ้านจำนวน 10 คน ตั้งเป็นกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้น และมีการดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


โดยสมาชิกกลุ่มจะร่วมมือกันทำปุ๋ยหมักจากสารเร่ง พด.1 ส่วนน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่ง พด.2 นั้นก็จะปรับสูตรส่วนผสมให้เหมาะสมกับการนำไปใช้กับพืชชนิดต่างๆ กรณีใช้กับสวนผลไม้จะเน้นหมักจากเศษผลไม้ เศษพืชผัก เศษปลาที่เหลือใช้ในครัวเรือน แต่ถ้าจะใช้กับสวนยางที่ปลูกใหม่ต้นเล็กจะเน้นเอาพวกหน่อกล้วย ผักบุ้งมาหมัก เพื่อใช้ฉีดพ่นให้ต้นยางต่อยอดโตเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังนำน้ำหมักชีวภาพที่ได้มาทาหน้ายาง ทำให้หน้ายางนุ่มกรีดง่าย ไม่เหมือนกับตอนที่ไม่ใช้ซึ่งหน้ายางจะขรุขระ ที่สำคัญต้นยางของที่นี่จะไม่มีปัญหาโรครากเน่า โคนเน่า เพราะจะใช้น้ำหมักชีวภาพจากสารเร่ง พด.3 ฉีดพ่นโคนต้นช่วยป้องกันได้เป็นอย่างดี


สิ่งที่เห็นได้เด่นชัดจากการใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตขึ้นเอง คือยางกรีดง่ายให้เปอร์เซ็นต์น้ำยางดีขึ้น ไม่มีโรค โดยเฉพาะเมื่อมีการการปรับปรุงบำรุงดินอย่างสม่ำเสมอและใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำของกรมพัฒนาที่ดิน ทำให้ลดต้นทุนจากเดิมได้ครึ่งต่อครึ่ง แถมรายได้ก็เพิ่มขึ้นไปด้วย ซึ่งผลสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ทำให้มีคนเข้ามาศึกษาดูงานในกลุ่มบ่อยครั้ง จนมีการขยายผลไปทำกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มขึ้นในหลายหมู่บ้านของตำบลท่าแพ ตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง


ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า (วันที่ 4 กรกฎาคม 2557)