ผู้เขียน หัวข้อ: คสช.แง้มทางออกระบายสต๊อกยาง 2.1 แสนตันภายในประเทศ  (อ่าน 1020 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด

คสช.แง้มทางออกระบายสต๊อกยาง 2.1 แสนตันภายในประเทศ


ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ คสช. แง้มทางออกระบายสต๊อกยางพารา 2.1 แสนตันในประเทศ พร้อมหนุนแผนพัฒนายางพาราทั้งระบบ ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยางพาราเพิ่ม


พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า คสช.จะพิจารณาตั้งคณะกรรมการร่วมทั้งภาครัฐและเอกชนมาดูแลยางพาราในลักษณะคลัสเตอร์ เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางอย่างเป็นระบบ เพราะขณะนี้ราคายางพาราตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต จะถือโอกาสนี้ในการบูรณาการทั้งระบบ เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว ไม่เน้นการทำประชานิยมหรือแก้ปัญหาเพียงเฉพาะหน้า คสช.ต้องการให้ราคายางดำเนินไปตามกลไกตลาดโลกและเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเงินสงเคราะห์การทำสวนยาง (เงินเซส) จะนำมาแก้ไขปัญหาระบบยางพาราได้ เพื่อส่งเสริมด้านการผลิต อุตสาหกรรม และตลาดยางอย่างเป็นรูปธรรม


โดย คสช.เห็นว่าควรกำหนดหลักเกณฑ์การระบายสต๊อกยางพารา 2.1 แสนตัน เพื่อนำไปใช้สำหรับก่อสร้างถนนลาดยาง และเห็นควรสนับสนุนการแปรรูปยางอย่างอื่น ๆ ภายในประเทศ เช่น สนามเด็กเล่น สนามฟุตซอล ลู่วิ่ง แผ่นยางคอกปศุสัตว์ เขื่อนยาง กรวยจราจร แบริเออร์ บังเกอร์ ฯลฯ


"สต๊อกยางพารา 2.1 แสนตันจะไม่แตะต้อง จะนำไปใช้ตามวิธีดังกล่าว ซึ่งจะต้องตั้งคณะกรรมการร่วมทั้งภาครัฐและเอกชนมาดูแลยางพาราในลักษณะคลัสเตอร์เพื่อแก้ไขปัญหาราคายาง"


นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย และประธานเศรษฐกิจมหภาคการเงินการคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผย ภายหลังนำภาครัฐและเอกชนเข้าพบ พล.อ.ยอดยุทธ ว่าได้นำเสนอ 4 แนวทางแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำให้กับ คสช. พิจารณา ได้แก่ 1.ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราจัดเก็บเงินสงเคราะห์การทำสวนยาง (เงินเซส) 2.การเตรียมความพร้อมระบบยางพาราในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 3.แผนการพัฒนายางพาราครบวงจร พ.ศ.2557-2561 4.การปฏิรูปยางพาราครบวงจร


ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานเศรษฐกิจมหภาค การเงินการคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อดีตรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอแนวทางการทำคลัสเตอร์ยาง เชื่อมโยงเกษตรกรให้ทำการแปรรูปยางแผ่นและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยาง ซึ่งจำเป็นจะต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อบูรณาการรัฐและเอกชน โดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หน่วยงานเอกชน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมถุงมือยาง อุตสาหกรรมก่อสร้าง ชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย


และเสนอว่าควรให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เข้ามาสนับสนุนสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติเพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง และกระทรวงการคลังมาสนับสนุนภาษี เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ


นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เสนอแนวทางให้ คสช.พิจารณาดังนี้ 1.แก้ปัญหายางพาราราคาตกต่ำ 2.โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบปี 2557 ที่รัฐสนับสนุนเงินอุดหนุน 2,520 บาท/ไร่ สำหรับสวนยางพาราขนาดไม่เกิน 25 ไร่ รัฐยังมีเงินค้างจ่ายอยู่อีก 6,000 ล้านบาท 3.ควรเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.... 4.ควรดูแลองค์กรเกษตรกร ผ่านงบประมาณของกรมส่งเสริมการเกษตร


ด้านนายสังเวิน ทวดห้อย ประธานเครือข่ายยางพาราแห่งประเทศไทย เสนอ 5 ข้อเสนอดังนี้ 1.ควรนำเงิน 5,000 ล้านบาทตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) จัดสรรให้โรงงานยางแท่ง 15 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน 300 ล้านบาท 2.โรงงานยางแท่ง 3 แห่งขององค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ควรมอบให้สถาบันเกษตรกรดำเนินการเอง 3.ควรชะลอการจำหน่ายยางในสต๊อก 2.1 แสนตัน 4.ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนการผลิต 5.ให้กำหนด TOR ถนนลาดยางทั้งประเทศ โดยให้ใช้ยางผสม 5% จะเพิ่มความทนทานได้อีก 20.9 เท่า


ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (วันที่ 9 มิถุนายน 2557)