สกย.เตือนเกษตรกรพื้นที่ปลูก?ยาง?ใหม่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมเคมีลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต
นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รักษาการ ผ.อ.สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้พื้นที่ปลูกยางใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ หลายพื้นที่ได้เปิดกรีดแล้ว และอีกหลายพื้นที่กำลังจะเปิดกรีด ในขณะที่ราคายางยังทรงตัวประมาณ 60-65 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นเพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน เกษตรกรจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาสวนยาง และลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี โดยใช้ควบคู่กับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพราะนอกจากจะลดต้นทุนการผลิตได้แล้ว ยังทำให้ผลผลิตน้ำยางเพิ่มขึ้นอีกด้วย
?แม้การใส่ปุ๋ยเคมีจะมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโต และเพิ่มผลผลิตของยางพาราก็ตาม แต่เนื่องจากในการกรีดยาง นอกจากธาตุอาหารหลัก คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม จะสูญเสียไปกับน้ำยางแล้ว ธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมบางอย่าง เช่น กำมะถัน แมงกานีส สังกะสี เหล็ก ทองแดง โบรอน และโมลิบดินัม ก็สูญเสียไปด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วธาตุอาหารเหล่านี้จะมีน้อยหรือแทบจะไม่มีในปุ๋ยเคมี แต่จะพบธาตุอาหารเหล่านี้ในปุ๋ยอินทรีย์ ดังนั้น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี จึงมีความจำเป็นต่อการเพิ่มการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตยางอย่างยั่งยืน และเป็นแนวทางในการช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้? นายประสิทธิ์ กล่าวและว่า เกษตรกรสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยเคมีควบคู่กับปุ๋ยอินทรีย์ได้จากครูยาง หรือเกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมในพื้นที่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ สกย.ทั่วประเทศ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า (วันที่ 10 มิถุนายน 2557)