ผู้เขียน หัวข้อ: ?บิ๊กตู่?จัดหนักโดดคุมกพช. รื้อพลังงาน เล็งยกเครื่องใหม่ทั้งระบบ  (อ่าน 527 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 86002
    • ดูรายละเอียด

?บิ๊กตู่?จัดหนักโดดคุมกพช. รื้อพลังงาน เล็งยกเครื่องใหม่ทั้งระบบ


 
ข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- อังคารที่ 10 มิถุนายน 2557 06:00:00 น.
?บิ๊กตู่?จัดหนักโดดคุมกพช.
รื้อพลังงาน
เล็งยกเครื่องใหม่ทั้งระบบ
นักวิชาการจี้ล้ม?กองทุนน้ำมัน?
ย้ำวิธีจัดเก็บ-จัดตั้งขัดกฎหมาย
คุก2ปีโรงสีชัยภูมิโกงจำนำข้าว
ทหารจับมือปปช.ลุยสางทุจริต
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่ง คสช.ที่ 54/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อให้การบริหารนโยบาย แผนงานและมาตรการด้านพลังงานของประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงให้แต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ประกอบด้วยประธาน และกรรมการ 18 คน ดังนั้น


?บิ๊กตู่?นั่งปธ.กก.พลังงาน
1.หัวหน้า คสช. เป็นประธานกรรมการ 2.รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ) เป็นรองประธานฯ และกรรมการ ประกอบด้วย 3.รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. 4.ปลัดกระทรวงกลาโหม 5.ปลัดกระทรวงการคลัง 6.ปลัดกระทรวงต่างประเทศ 7.ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 8.ปลัดกระทรวงคมนาคม 9.ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 10. ปลัดกระทรวงพลังงาน 11.ปลัดกระทรวงพาณิชย์ 12.ปลัดกระทรวงมหาดไทย 13.ปลัดกระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี 14.ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 15.เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา 16.เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 17.ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และ18.ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ


โดยมีอำนาจหน้าที่ 5 ข้อได้แก่ 1.เสนอแนะนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนา และมาตรการด้านพลังงาน 2.เสนอความเห็นเกี่ยวกับแผนงานและโครงการด้านพลังงานของหน่วยงาน รวมทั้งเสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญของแผนงานและโครงการดังกล่าว 3.กำหนดราคาและอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามกรอบและแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมอบหมาย รวมทั้งปฏิบัติงานอื่นตามที่หัวหน้า คสช. มอบหมาย ในการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และตามกฎหมายว่าด้วยการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง


ตั้ง?ประจิน?คุมบอร์ดบริหาร
นอกจากนี้ คสช.ยังออกคำสั่งฉบับที่ 55/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน โดยมีรองหัวหน้า คสช.(หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ)เป็นประธานกรรมการ และกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา ผู้อำนวยการเศรษฐกิจการคลัง โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ


มีอำนาจหน้าที่ อาทิ 1.เสนอแนะนโยบายแผนการบริหารและพัฒนาและมาตรการทางด้านพลังงาน 2.เสนอความเห็นเกี่ยวกับแผนงานและโครงการทางด้านพลังงานของหน่วยงาน รวมทั้งเสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญของแผนงานและโครงการดังกล่าว 3.กำหนดราคาและอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามกรอบและแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมอบหมาย รวมทั้งปฏิบัติงานอื่นตามที่หัวหน้า คสช.มอบในการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและตามกฎหมายว่าด้วยการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง 4.เสนอแนะนโยบายและมาตรการทางด้านราคาพลังงาน และกำกับการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ


?อุดมเดช?ปธ.กองทุนอนุรักษ์ฯ
จากนั้น คสช.ได้มีคำสั่งที่ 56/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้การบริหารงานคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมาย ในการดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงาน หรือการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน โดยให้พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการ 13 คน อาทิ ปลัดบัญชีทหารบก ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพลังงาน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะในส่วนเกี่ยวข้องกับพลังงานขึ้นมาใหม่นั้น เป็นที่จับตามองของทุกภาคส่วนมาตั้งแต่ คสช.ประกาศยึดอำนาจปกครองประเทศ โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานออกมาเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง ให้ปรับโครงสร้างพลังงานครั้งใหญ่ทั้งระบบ เนื่องจากที่ผ่านมา คณะกรรมการฯเหล่านี้มักจะมีการเมือง และผลประโยชน์มหาศาลเข้าไปเกี่ยวข้อง ขณะที่ประชาชนในฐานะผู้บริโภคต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยไม่เป็นธรรมมาตลอด ฉะนั้น นโยบายปรับโครงสร้างบอร์ดหน่วยงานด้านพลังงาน ให้ปลอดการเมือง เพื่อเข้าไปสร้างความเป็นธรรมในการกำหนดราคาพลังงาน บรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน จึงถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่คสช.ต้องดำเนินการ


คสช.ยังไม่สรุปภาษี-พลังงาน
ด้านพ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษก คสช.แถลงถึงการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องภาษี โครงสร้างราคาพลังงาน มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร การบริหารจัดการน้ำและสาธารณูปโภคว่า อยู่ในขั้นตอนของแต่ละฝ่ายกำลังการศึกษาถึงผลกระทบ เพื่อพิจารณาหาข้อตกลง ให้ได้ผลลัพธ์อย่างยั่งยืน จึงยังไม่ได้ข้อยุติ หรือมีคำสั่งใดๆ


ทั้งนี้ งานเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การใช้จ่ายงบประมาณปี 2557 ของส่วนราชการ โดยจะมีการตรวจสอบไม่ให้เกิดการทุจริต เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด และสอดคล้องกับการใช้จ่ายงบประมาณปี 2558 ที่สำนักงบประมาณจัดทำอยู่ให้มากที่สุด ให้เกิดการบูรณาการของงบงานที่เชื่อมโยงกันของทุกกระทรวง โดยเฉพาะในงบรายจ่ายประจำให้สามารถขับเคลื่อนสอดคล้องเป็นไปตามแผนงานการพัฒนาประเทศช่วง10ปี เน้นหลักการตามที่ คสช.มอบนโยบายไปแล้ว และให้เป็นไปตามแผนงานตามกรอบของสภาพัฒน์ฯ และสำนักงบประมาณ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา


จี้เลิกกองทุนน้ำมันเอื้อปตท.
วันเดียวกัน นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ออกมาเรียกร้องให้คสช.เร่งยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยระบุว่า การตั้งกองทุนน้ำมันขัดกฎหมายและมีการนำเงินของกองทุนที่จัดเก็บได้ไปอุดหนุนผิดเรื่อง ทำให้กำไรขอบริษัท ปตท. 70-80% มาจากเงินของกองทุนน้ำมัน


นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันฯ ไม่ได้ใช้ในการรักษาระดับราคาน้ำมันแล้ว เพราะว่ามีการปล่อยราคาน้ำมันลอยตัว ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงเท่าไร น้ำมันในประเทศก็สูงเท่านั้น การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันก็เป็นการดับเบิ้ลราคาเข้าไปอีก ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกสูงขึ้นไปอีก คนไทยจึงใช้น้ำมันแพงโดยไม่จำเป็น


ชี้เป็นมะเร็งร้ายสำหรับผู้บริโภค
?ส่วนเรื่องการใช้ก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.ผูกขาดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติอยู่เพียงรายเดียว วิธีแก้ปัญหาต้องเปิดเสรีการนำเข้าก๊าซแอลพีจี ราคาก็จะลงมาเอง ไม่ใช่ไปใช้วิธีชดเชยให้ ปตท.แบบนี้ แต่ต้องให้ ปตท.มาแข่งขันในตลาด ฉะนั้น กองทุนน้ำมันจึงเป็นมะเร็งสำหรับผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคไม่ได้ต้องการ กลายเป็นการเสียซ้ำซ้อน ไม่มีประโยชน์กับผู้บริโภค แต่มีประโยชน์กับผู้ค้าน้ำมันบางรายคือบริษัท ปตท.?นายคมสันระบุ


แฉวิธีจัดเก็บ-จัดตั้งกองทุนฯขัดกม.
และว่า นอกจาก การเก็บเงินเข้ากองทุนฯทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนโดยไม่เป็นธรรมแล้ว การจัดตั้งกองทุนยังขัดกฎหมาย และวิธีการจัดเก็บมีลักษณะเป็นการจัดเก็บภาษี เนื่องจากผู้ค้าน้ำมันผลักภาระการส่งภาษี เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินกองทุนอื่นให้ผู้บริโภครับภาระแทน โดยรวมอยู่ในราคาขายปลีก ซึ่งในการจัดเก็บภาษีเกือบทุกประเภท จะดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ ที่ออกโดยรัฐสภา แต่เงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กลับเรียกเก็บโดยอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรี ที่เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการจัดเก็บ ซึ่งฝ่ายบริหารจะจัดเก็บภาษีได้ต่อเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติมอบอำนาจให้ ถือเป็นหลักการสำคัญป้องกันฝ่ายบริหารเรียกเก็บภาษีตามอำเภอใจ


นายคมสันกล่าวด้วยว่า อีกทั้ง การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ยังไม่นำเงินที่จัดเก็บได้ส่งคลังก่อน จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เงินคงคลัง ปี 2491 ด้วย เมื่อการจัดตั้งกองทุนฯ และการจัดเก็บเงินเข้ากองทุน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดังนั้น ตรา พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) 2546 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญไปด้วย และเมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของการตั้งสถาบันฯ ที่มีเจตนาเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศไม่ให้สูงเกินกว่าระดับที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ก็เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะเมื่อไม่มีการกำหนดให้ราคาน้ำมันขายปลีกเป็นราคาที่ปรับขึ้นลงตามราคาท้องตลาด การใช้กองทุนเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันขายปลีกจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงสมควรที่จะยกเลิกเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน


จับมือปปช.ลุยเช็คสต๊อกข้าว
ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบสต๊อกข้าวในโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในที่ประชุมติดตามสถานการณ์ประจำวัน คสช. ที่กองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งมีพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. เป็นประธาน โดยฝ่ายเศรษฐกิจ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ได้ชี้แจงประเด็นสำคัญ 2 เรื่องคือ การประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องในการขุดลอกคูคลองและพัฒนาแหล่งน้ำ โดยใช้งบประมาณปี 2557 มาบูรณาการร่วมกัน รวมทั้งหารือการจัดทำงบประมาณประจำปี 2558 ส่วนการตรวจเช็คสต๊อกข้าวโครงการรับจำนำข้าวนั้น ในทางปฎิบัติแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช) ดำเนินการตรวจสอบสต๊อกข้าว โดยใช้ฐานข้อมูลปริมาณข้าวในคลัง หรือโรงสีที่มีอยู่เดิม ซึ่งการตรวจสอบจะใช้กำลังพลแต่ละกองทัพภาค ส่วนที่ 2 การตรวจสอบสต๊อกข้าว ที่คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบช.) ซึ่งเป็นคนละหน่วยงานกับคณะกรรมการนโนบายข้าวแห่งชาติ (กบข.)เดิม นอกจากนี้ จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการย่อย เพื่อทำบัญชีข้าวและดำเนินการตรวจสอบ


บุรีรัมย์คึกคักแห่ไถ่ของโรงจำนำ
ขณะที่ชาวนาจากหลายอำเภอ ของจ.บุรีรัมย์ที่ได้รับเงินในโครงการจำนำปี 2556/57 ซึ่งรัฐบาลค้างจ่ายแล้วทยอยนำเงินไปไถ่ถอนทรัพย์สินที่นำไปจำนำไว้กับสถานธนานุบาล เทศบาลเมืองบุรีรัมย์อย่างคึกคักเฉลี่ยวันละกว่า 100-200 ราย คิดเป็นยอดเงินไถ่ถอนกว่า 2-3 ล้านบาท มากกว่ายอดจำนำถึงร้อยละ 80 และคาดว่าจะมีชาวนาแห่มาไถ่ถอนทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ศาลชัยภูมิสั่งคุก20ปีโรงสีโกงจำนำ
ความคืบหน้าคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวในจ.ชัยภูมิ หลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโรงสีในอ.บ้านเขว้า พบการทุจริตจำนวนมาก จึงแจ้งความดำเนินคดีโรงสีที่มีพฤติกรรมสวมสิทธิเวียนเทียนใบประทวนลม และมีการยักยอกข้าวในโกดังสูญหาย โดยพล.ต.ต.พินิต มณีรัตน์ ผบก.ภ.จว.ชัยภูมิเปิดเผยว่า โรงสีที่ทำผิดถูกแจ้งความดำเนินคดีคือ โรงสีนพภร ข้าวหายไปจากโรงสีขององค์การคลังสินค้า( อคส.) รวม 750 ตัน แยกเป็นข้าวเปลือก 621 ตัน ข้าวสารสีแปรแล้ว 129 ตัน รวมมูลค่ากว่า 11 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องพร้อมเจ้าของโรงสีทั้งหมดมาต่อเนื่องและส่งฟ้องคดีต่อศาล จ.ชัยภูมิไปแล้วใน 4 ข้อหาหนัก ล่าสุด ศาลสั่งลงโทษ 2 ข้อหาเจ้าของโรงสี พร้อมพวกที่เป็นชาวนาอีก 9 ราย ที่ปลอมแปลงเอกสารทางราชการ สวมใบประทวนข้าวโดยไม่มีข้าว และนำข้าวในโกดังรัฐออกมาหมุนเวียนสวมสิทธิและทำข้าวของรัฐหายไป 750 ตัน ร่วมกับโรงสี โดยมีคำพิพากษาสั่งลงโทษชาวนาที่เกี่ยวข้องทั้ง 9 ราย ให้จำคุก 6 เดือน แต่โทษขังให้รอลงอาญา 2 ปี ส่วนเจ้าของโรงสี ศาลสั่งลงโทษข้อหายักยอกทรัพย์ข้าวที่หายไป ให้จำคุก 20 ปีโดยไม่รอลงอาญา