ผู้เขียน หัวข้อ: ศาลสั่งชะลอขายยาง ดันราคาขยับ6บ./กก.  (อ่าน 1331 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด

ศาลสั่งชะลอขายยาง ดันราคาขยับ6บ./กก.


ชาวสวนเฮ ศาลปกครองกลางสั่งชะลอระบายยาง 2.1 แสนตันชั่วคราว อานิสงส์ดันราคายางขยับขึ้นกว่า 6 บาทต่อกิโลกรัมสูงสุดในรอบกว่า 1 เดือน ขณะแนวโน้มราคาเดือนมิถุนายนขยับขึ้นต่อเนื่อง จากอุปทานยางจากอินโดฯลดลงช่วงเดือนรอมฎอน เสนอ คสช. ให้นำยางในสต๊อกไปทำถนน/บังเกอร์ทหารแทน
นายอุทัย  สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงินการคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึง กรณีเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมาได้ร่วมกับชุมนุมสหกรณ์เกษตรอุตสาหกรรมการยางแห่งประเทศไทย กับพวกรวม 4 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การสวนยาง (บอร์ด อ.ส.ย.)เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมของคณะกรรมการบริหาร อ.ส.ย.ที่มีมติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 ให้มีการระบายยางพาราในสต๊อก 2.1 แสนตันออกสู่ตลาด โดยได้ยื่นขอให้ศาลเปิดไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการชั่วคราว เพราะเห็นว่าการระบายยางจะยิ่งทำให้ราคายางในตลาดตกต่ำลงไปอีก


ล่าสุดในการไต่สวนของศาลปกครองกลางวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ได้มีคำสั่งให้ชะลอการระบาย/ขายยางในสต๊อก 2.1 แสนตันไว้ก่อน  โดยศาลมีความเห็นว่าคดีดังกล่าวนี้ทั้งสองฝ่ายยังพอตกลงและหาข้อยุติร่วมกัน ได้จึงยังไม่ตัดสิน และได้ขอให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบไปแก้ไขปัญหาราคายางที่ตกต่ำ โดยทางนายชนะชัย  เปล่งศิริวัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาและแก้ไขปัญหาใน ระดับนโยบายโดยเร็วต่อไป แต่ทั้งนี้แนวทางจะต้องไม่ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อราคายางของ เกษตรกร
"นับว่าเป็นข่าวดีและมีผลทำให้ราคายางปรับตัวดีขึ้น โดยอ้างอิงราคายางจากสถาบันวิจัยยาง ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ราคายางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 63.07 บาท  ราคายางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันตลาดกลางยางพาราสงขลา แตะระดับ 63.07 บาท/กก. และ 66.50 บาท/กก.  ถือมีการปรับตัวขึ้น หากเทียบจากราคายาง ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ราคายางตลาดกลางยางพาราสงขลา ยางแผ่นดิบอยู่ที่ระดับ 57.21 บาทต่อกิโลกรัม เห็นได้ว่าปรับสูงขึ้นถึง 6 บาทต่อกิโลกรัม หลังจากมีการเสนอข่าวชาวสวนเบรกรัฐเทสต๊อกยาง จนกระทั่งถึงวันนี้นับว่าเป็นราคาสูงสุดในรอบ 1 เดือนกว่า"
นายอุทัย กล่าวอีกว่า คาดแนวโน้มราคายางในเดือนมิถุนายนนี้ จะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมจะเข้าสู่เทศกาลถือ ศีลอด 1 เดือนเต็มในเดือนรอมฎอน จะทำให้เป็นการลดอุปทานในตลาดลง ขณะที่เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมาได้เข้าหารือ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเสนอให้นำยางในสต๊อกรัฐบาลไปราดถนนหรือไปทำบังเกอร์ในค่ายทหารแทนขาย ให้กับพ่อค้า พร้อมกันนี้ได้ให้ข้อมูลหากนำยางออกมาขายจะส่งผลกระทบต่อราคาทั้งในประเทศ และตลาดโลกอย่างไร
สอดคล้องกับนายชนะชัย  เปล่งศิริวัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.)  กล่าวว่า เห็นด้วยที่ศาลสั่งชะลอการขายยางออกไป เนื่องจากจะส่งผลกระทบทำให้ราคายางตกต่ำมากขึ้น อย่างไรก็ดีจะนำไปหารือกับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรี เพื่อจะนำข้อสรุปของศาลไปประกอบการพิจารณาว่าจะล้มการระบายยาง หรือจะมีแนวทางการระบายยางอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบตลาด คาดว่าจะได้ผลสรุปไม่เกิน 15 วัน หลังจากนั้นจะต้องกลับไปชี้แจงที่ศาลถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย ว่าผลดังกล่าวนั้นเกษตรกรพึงพอใจหรือไม่ ถ้าพึงพอใจ ศาลถึงจะให้เกษตรกรถอนฟ้อง ขณะที่อีกด้านหนึ่งยอมรับว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ได้มีหนังสือทวงหนี้ที่ยืมมา 2.2 หมื่นล้านบาท ในโครงการแทรกแซงซื้อยาง 2.1 แสนตันจริง อย่างไรก็ดีจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาทำให้ต่ออายุโครงการแทรกแซงฯไม่ ทัน ขณะที่โครงการมีค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าเช่าโกดังกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ ค่าจ้างโรงงานแปรรูปยาง กว่า 30 ล้านบาทและค่าเบี้ยประกัน (ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2557) เป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท
ด้าน นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะปฏิบัติงานหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ล่าสุด ( 30 พ.ค.57 )ได้สั่งการให้นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปประชุมกับทางบอร์ด อ.ส.ย. ในสัปดาห์หน้าเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบข้อเสีย-ข้อดีของการระบายยางและให้สรุป แนวทางการระบายยาง 2.1 แสนตัน เช่นจะขายแบบล็อตเล็กๆ ที่ไม่กระทบราคายางในตลาด หรือจะเป็นการนำไปใช้ในหน่วยราชการซึ่งเรื่องนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากนั้นจะเสนอให้รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งหากทางคสช.มีข้อสงสัย ก็อาจจะส่งเรื่องกลับมาที่กระทรวงหรือให้ไปชี้แจงก็พร้อม โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าจะซื้อยางมาก็ไม่ควรเก็บไว้ควรจะระบายออกไม่ว่าจะเป็น รูปแบบใดก็ตาม
แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ (ธ.ก.ส.)  กล่าวว่า  ทางธนาคารได้มีหนังสือทวงหนี้จาก อ.ส.ย. ที่กู้เงิน 2.2 หมื่นล้านบาทใช้จ่ายในโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถาบันเกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่ายางโดยการแปรรูป และชะลอการจำหน่ายยางออกสู่ตลาดในช่วงที่ราคายางผันผวน เพื่อลดอุปทานยางให้มีราคาซื้อที่เหมาะสมและยั่งยืนอยู่ในระดับประมาณ 120 บาทต่อกิโลกรัมนั้น ซึ่งขณะนี้เวลาได้ผ่านมา 2 ปีแล้ว อยากให้ ทาง อ.ส.ย.เร่งรัดคืนเงินกู้โดยเร็ว
ด้าน ท.พ.พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกยางพาราในเวลานี้ยังทรงตัว อยากเสนอให้ คสช.เร่งจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อที่จะประชุมไตรภาคีสภาความร่วมมือยางพารา (ไอทีอาร์ซี) ที่ประกอบด้วยรัฐบาล 3 ประเทศได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย  เพื่อดึงราคายางให้ปรับสูงขึ้นทั้งในประเทศและตลาดโลก


ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (วันที่  1 - 4  มิถุนายน 2557)