ผู้เขียน หัวข้อ: รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 เมษายน 2557  (อ่าน 540 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 85612
    • ดูรายละเอียด

รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 เมษายน 2557


 
ข่าวเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง -- พุธที่ 23 เมษายน 2557 14:10:20 น.
Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 เมษายน 2557
Summary:
1. ครม.เห็นชอบขยายอายุมาตรการรถไฟ - รถเมล์ฟรีอีก 3 เดือน เพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชน


2. สแตนชาร์ตมั่นใจหากศก.โลกฟื้นดันGDP ไทยโต3.5 %
3. รัฐบาลญี่ปุ่น เสนอปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล
1. ครม.เห็นชอบขยายอายุมาตรการรถไฟ - รถเมล์ฟรีอีก 3 เดือน เพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชน


- เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 57 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการขยายเวลามาตรการรถไฟฟรีและรถเมล์ฟรีออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 31 ก.ค.57 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 181 (2) เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน


- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันดัชนีราคาหมวดค่าโดยสารสาธารณะคิดเป็นร้อยละ 2.2 ของตะกร้าเงินเฟ้อ โดยในเดือน มี.ค. 57 ดัชนีดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น การที่ ครม.เห็นชอบขยายอายุมาตรการรถไฟ - รถเมล์ฟรีอีก 3 เดือนจะช่วยลดภาระของประชาชนในช่วงที่มีการทยอยปรับเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซหุงต้มที่อาจส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าประเภทอื่น โดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูป ตลอดจนแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงและแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ที่เพิ่มขึ้นอาจผลักดันให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 จะปรับสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 - 3.0)


2. สแตนชาร์ตมั่นใจหากศก.โลกฟื้นดันGDP ไทยโต3.5%
- ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 57 อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่สถานะที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 57 ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะมีพลวัตขับเคลื่อนการฟื้นตัวมากขึ้น จาก เศรษฐกิจสหรัฐ ยูโรโซน ตลอดจนจีน และญี่ปุ่น ที่จะสามารถขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวก หนุนให้การส่งออกของโลกและของไทยดีขึ้น โดยเชื่อว่าในไตรมาส 2 ปี 57 เศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มกลับสู่ภาวะฟื้นตัวตามลำดับ และคาดว่าทั้งปี 57 การส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ร้อยะ 9.0 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ เศรษฐกิจไทยปี 57 จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 ต่อปี จากปีก่อนที่ให้ไว้ ร้อยละ 2.9 ต่อปี


- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อนตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น โดยข้อมูล 2 เดือนแรกของปี 57 การส่งออก กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี โดยคาดว่าทั้งปี 57 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0-7.0) ขณะที่ คาดว่าค่าเงินบาทในปี 57 ว่าจะอ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ยในปี 56 ที่ 30.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 32.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 57 สศค.คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.6 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57)


3. รัฐบาลญี่ปุ่น เสนอปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล
- คณะกรรมการของรัฐบาลญี่ปุ่นเสนอแนะว่าควรมีการปรับลดภาษีนิติบุคคลลง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มเป็น 2 เท่าภายในปี 2563 และรัฐบาลจะต้องผ่อนคลายกฎระเบียบในตลาดแรงงานเพื่อกระตุ้นให้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น


- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลภาษีนิติบุคคลในปัจจุบันของญี่ปุ่น ซึ่งประกอบไปด้วยภาษีระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 35 ซึ่งสูงกว่าอัตราในจีนที่ร้อยละ 25 เกาหลีใต้ร้อยละ 24 และในสิงคโปร์ร้อยละ 17 ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาค ทั้งนี้ แนวคิดการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของรัฐบาลญี่ปุ่น จะช่วยส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากทำให้เกิดการลงทุนและการจ้างงาน และเป็นปัจจัยเสริมด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง ทั้งทางด้านการส่งออกและการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign direct investment) ถึงแม้ว่าการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลอาจจะทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ แต่ผู้เสียภาษีและภาคธุรกิจ อาจนำเงินที่เสียภาษีน้อยลงไปใช้จ่ายหรือลงทุนต่อ อันทำให้เกิดการผลิตและการจ้างงานต่อเนื่องไปอีก จะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น และลดการขาดดุลของภาครัฐได้


ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257