ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2557  (อ่าน 1985 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 85214
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันจันทร์ที่  21  เมษายน  พ.ศ. 2557


ปัจจัยวิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ- ประเทศไทยมีอากาศร้อนและมีฝนฟ้าคะนองกับลมกรรโชกแรงเพิ่มขึ้น โดยภาคใต้มีอากาศร้อนในตอนกลางวันและมีเมฆบางส่วนกับมีฝนตกเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 20 - 30 ของพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง เนื่องจากหลายพื้นที่เริ่มมีการเปิดกรีดแล้ว
2. การใช้ยาง- ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทไทยรับเบอร์ลาเท็กซ์ คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าอีก 40 ปีข้างหน้าโลกจะมีประชากรเกินกว่า 9,000 ล้านคน สินค้าจำเป็นต้องบริโภคก็จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งรถยนต์ เส้นด้าย ยางยืด ถุงมือยาง และถุงยางอนามัย ดังนั้นจึงเป็นโอกาดีของยางพาราที่มีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นเช่นกัน- บริษัทวอลโว่ คาร์คอร์ป คาดว่าจีนจะนำหน้าสหรัฐฯ ขึ้นแท่นเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของบริษัทในปีนี้ โดยคาดว่าจะจำหน่ายรถได้อย่างน้อย 80,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มียอดจำหน่าย 61,146 คัน เฉพาะไตรมาสแรกของปี 2557 วอลโว่สามารถจำหน่ายรถในจีนได้ 17,286 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่า ยอดการผลิตรถยนต์ของจีนไตรมาสแรกปี 2557 อยู่ที่ 6.26 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนเดือนมีนาคมมีการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 2.363 ล้านคัน- รายงานของ Rubber Economist ระบุว่าประมาณการผลผลิตยางส่วนเกินปี 2557 อยู่ที่ 652,000 ตัน สูงกว่าที่ประมาณการเดือนธันวาคม 2556 ที่ 366,000 ตัน ขณะที่ความต้องการใช้อ่อนตัวลง และผลผลิตในประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ที่สุดมีมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ส่วนผลผลิตยางของโลกปี 2557 อยู่ที่ 12.04 ล้านตัน ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากที่ได้ประมาณการในเดือนธันวาคม 2556 ที่อยู่ที่ 11.59 ล้านตัน- บริษัทนิสสัน มอร์เตอร์ คาดการณ์ว่า บริษัทจะมียอดจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลกมากกว่า 5.2 ล้านคันในปีงบการเงิน 2556 สิ้นสุดเดือนมีนาคม โดยได้รับแรงหนุนบางส่วนจากยอดจำหน่ายที่แข็งแกร่งในญี่ปุ่นและอเมริกาเหนือ หลังจากเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ
3. สต๊อคยาง- สต๊อคยางจีน ณ วันที่ 18 เมษายน 2557 ลดลง 3,812 ตัน หรือลดลงร้อยละ 2.19 อยู่ที่ 170,000 ตัน จากระดับ 173,812 ตัน เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2557- สต๊อคยางญี่ปุ่น ณ วันที่ 10 เมษายน 2557 เพิ่มขึ้น 60 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.30 อยู่ที่ 19,768 ตัน จากระดับ 19,708 ตัน เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2557
4. เศรษฐกิจโลก- กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2556 ญี่ปุ่นขาดดุลการค้ามากที่สุด ที่ 13.75 ล้านล้านเยน โดยมูลค่าการส่งออกปรับตัวขึ้นร้อยละ 10.8 จากปีงบประมาณ 2555 และยอดนำเข้าขยายตัวร้อยละ 17.3 ซึ่งในเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียวญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 1.45 ล้านล้านเยน เป็นการขาดดุลการค้าติดต่อกันเป็นเดือนที่ 21- กระทรวงการคลังจีนเปิดเผยว่า ผลกำไรของบริษัทรัฐบาลจีนเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรก ทำให้มีความหวังต่อเศรษฐกิจจีนหลังจากที่ชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 18 เดือน โดยบริษัทที่ไม่ใช่ภาคการเงินของรัฐบาลจีนมีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ในไตรมาสแรก- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนไตรมาสแรก
ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และชะลอตัวลงจากไตรมาส 4 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาส โดยต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการจีนกำหนดไว้ที่ร้อยละ 7.5 ผลจากการลดลงของการบริโภค การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ เห็นได้จาก
  • ยอดค้าปลีกที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 จากร้อยละ 13.5
  • การลงทุนในสินทรัพย์คงทนขยายตัวร้อยละ 17.8 จากร้อยละ 19.9
  • การส่งออกหดตัวร้อยละ 3.5 จากร้อยละ 7.4
  • การปล่อยสินเชื่อและปริมาณเงินในระบบที่ขยายตัวชะลอตัวลง
- ทางการจีนส่งสัญญาณเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน โดยจะมุ่งปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว แต่ในระยะสั้นทางการจีนได้ส่งสัญญาณพร้อมที่จะพยุงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป โดยเดือนมีนาคมทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ดังนี้
  • การเร่งลงทุนในโครงการพื้นฐาน
  • การลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก
  • การประกาศลดสัดส่วนการกันสำรองเงินธนาคารพาณิชย์และสหกรณ์ท้องถิ่น เพื่อเป็นการบริการทางการเงินให้แก่ประชาชนเขตชนบท
5. อัตราแลกเปลี่ยน- เงินบาทอยู่ที่ 32.21 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.03 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ- เงินเยนอยู่ที่ 102.63 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.15 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
6. ราคาน้ำมัน- ตลาดนิวยอร์ก (Nymex) ปิดทำการเมื่อวันศุกร์ที่ 18 เมษายน 2557 เนื่องในวัน Good Friday
7. การเก็งกำไร- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 200.7 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 6.2 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนกันยายน อยู่ที่ 202.1 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 4.3 เยนต่อกิโลกรัม- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 220.9 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ไม่เปลี่ยนแปลง
8. ข่าว- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ระบุในรายงานประจำปีว่า เฟดมีกำไรสุทธิ 8.4 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ จากการลงทุนในสินทรัพย์ขนาดใหญ่ปี 2556 และรายได้เฉลี่ยของเฟดใน ช่วง 10 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะยังคงสูงกว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤติการเงิน
9. ข้อคิดเห็นของ ผู้ประกอบการ- ราคายางปรับตัวลดลงประมาณ 1 - 2 บาท เพราะความต้องการซื้อมีน้อย ขณะที่การทำสัญญาก่อนหน้านี้ก็มีการผิดนัดรับสินค้า หรือผู้ซื้อบางรายยกเลิกสัญญา ไม่รับสินค้า เพราะทำสัญญาขายในราคาสูง อีกทั้งผู้ประกอบการเปิดเผยว่าระยะนี้สัญญาซื้อขายแบบ long term ถูกยกเลิก
แนวโน้มราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียวและเซี่ยงไฮ้ที่ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว 6 ไตรมาสติดต่อกัน ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางลดลงด้วย ประกอบกับมีการประมาณการผลผลิตส่วนเกินปี 2557 อยู่ที่ 652,000 ตัน สูงกว่าที่ประมาณการในเดือนธันวาคม 2556 ที่ 366,000 ตัน ขณะที่ความต้องการใช้ยังคงอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม สต๊อคยางจีน ณ ตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ที่ปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 170,000 ตัน (18 เมษายน 2557) และการเริ่มเปิดกรีดในหลายพื้นที่ ต้นยางยังให้ผลผลิตไม่เต็มที่ ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนราคายางได้ในระดับหนึ่ง
คณะทำงานวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดและราคายาง  สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 21, 2014, 12:40:08 PM โดย Rakayang.Com »