ผู้เขียน หัวข้อ: อ.ส.ย. ดิ้นโละสต๊อกยางใช้หนี้3เดือนกว่า 60 ล. (17/04/2557)  (อ่าน 722 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 85629
    • ดูรายละเอียด

อ.ส.ย. ดิ้นโละสต๊อกยางใช้หนี้3เดือนกว่า 60 ล. (17/04/2557)


วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2014 เวลา 10:31 น


               วงในแฉ อ.ส.ย. ดิ้นระบายสต๊อกยาง โปะค่าเช่าโกดัง- ค่าเบี้ยประกันภัย -ค่าจ้างโรงงานแปรรูป เผย3 เดือนหลังยุบสภาค้างจ่ายรวมกว่า 60 ล้านบาท เตรียมชงครม.เห็นชอบแนวทางระบายเป็นล็อตเล็กๆจากทั้งสิ้น 2.1 แสนตันที่ค้างสต๊อก พร้อมลุ้นเงินประกันจากกรณีไฟไหม้โกดังเก็บยางที่ อ.นาบอน 230 ล้านมาจ่าย อ้อนเจ้าหนี้เห็นใจอย่าฟ้องร้อง อ้างเหตุสุดวิสัยยิ่งลักษณ์ยุบสภา


              แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภายหลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางที่ทางองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ในฐานะหน่วยงานดูแลบริหารยางในโครงการดังกล่าวเนื่องจากเวลานี้ยังมียางพาราค้างอยู่ในสต๊อกจำนวน 2.1 แสนตัน ซึ่งขณะนี้ยังมีภาระรายจ่ายจำเป็นในหลายเรื่อง อาทิ ค่าเช่าโกดังเอกชน ค่าเบี้ยประกันภัย และค่าจ้างโรงงานแปรรูป เป็นต้น ซึ่งนายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผู้อำนวยการ อ.ส.ย. ได้เสนอในที่ประชุมถึงแนวทางที่จะหารายได้ ระหว่างรอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบ แล้วจะต้องส่งเรื่องให้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุมัติให้ขยายเวลาโครงการได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 หลังจากที่โครงการสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา


              ทั้งนี้นายชนะชัยได้เสนอแผนที่จะระบายยางโดยไม่กระทบตลาด โดยจะระบายล็อตเล็กๆ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ค้างมากว่า 3 เดือนเท่านั้นโดยมีภาระกว่า 60 ล้านบาท โดยนายชนะชัย กล่าวว่า การขายยางในสต๊อกเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการ อาทิ ค้างค่าเช่าโกดังกลางเก็บยางกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท ค่าจ้างโรงงานแปรรูปยาง กว่า 30 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัย มากว่า 3 เดือน รวมทั้ง 3 กรณีกว่า 60 ล้านบาทนั้นเป็นเพียงแค่แนวคิด อาจจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากมองว่าสถานการณ์ขายยางจะเป็นการซ้ำเติมตลาดแม้ว่าจะเข้าสู่ช่วงต้นยางผลัดใบผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลงก็ตาม อย่างไรก็ดี หากจะระบายจริงจะต้องเข้าสู่บอร์ด อ.ส.ย. ที่มีนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รักษาการรองนายกฯและนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเพื่อพิจารณาให้การอนุมัติให้มีการระบายเป็นล็อตเล็กๆ ได้หรือไม่


            ส่วนทางออกที่ 2 จะนำเงินชดเชยจากโกดังแปรรูปยางพารา ที่อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ถูกไฟไหม้ซึ่งทางบริษัทประกันภัยได้แจ้งมาแล้วว่าจะจ่าย 230 ล้านบาท ไม่เกินวันที่ 30 เมษายนนี้ อย่างไรก็ดีระหว่างการรอ ครม.รักษาการ และ กกต.พิจารณาให้ความเห็นชอบในเรื่องข้างต้นนั้นจะได้เจรจาทำความเข้าใจกับเจ้าของโกดังให้เช่า รวมถึงโรงงานแปรรูปยางพารา เพื่อสร้างความเข้าใจไม่ให้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย เพราะเป็นเหตุจำเป็นจริงๆ


             ขณะที่นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ส่งออกยางพาราในขณะนี้ว่าไม่มีปัจจัยบวก แม้ว่าช่วงนี้เข้าสู่ช่วงต้นยางผลัดใบชาวสวนจะหยุดกรีด ราคายางแทนที่จะปรับขึ้นก็ยังมีแนวโน้มราคาลง สาเหตุมาจากสต๊อกยางจีนคาดว่าจะมีมากกว่า 3.5 แสนตัน จึงทำให้ราคาตลาดยางล่วงหน้า โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หรือ โตคอม (TOCOM) และตลาดล่วงหน้าจีน ที่เซี่ยงไฮ้ (SHFE) ปรับทิศทางลงเดียวกัน ยกเว้นตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ เอเฟท สถานการณ์ราคาปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย มองว่าหลังเทศกาลสงกรานต์ที่ประเทศไทยจะเปิดกรีดยางได้ทั่วประเทศ คาดราคายางจะลดลงไปอีก


              อนึ่ง สถาบันวิจัยยาง รายงานสถานการณ์ราคายางพารา ณวันที่ 10 เมษายน 2557 ราคายางตลาดกลางยางพาราสงขลา ยางแผ่นดิบแตะระดับ 66.77 บาทต่อกก. และยางแผ่นรมควันแตะระดับ 68.55 บาทต่อกก. ปรับตัวลดลงจากวันก่อน 0.32 บาทต่อกก. และ 0.22 บาทต่อกก.ตามลำดับ


ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,939 วันที่ 13 - 16 เมษายน พ.ศ. 2557