ข้อความโดย: Rakayang.Com
« เมื่อ: มกราคม 12, 2016, 11:46:18 AM »วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นกับมีฝนบางพื้นที่ และอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ส่วนภาคใต้มีเมฆบางส่วนกับมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ไม่ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับแกนนำกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) รับซื้อยางจากเกษตรกรทั้งหมดเป็นการเร่งด่วน ทั้งยางดิบและยางแผ่นรมควัน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ยืนยันราคาที่มีการรับซื้อสูงกว่าราคาตลาดแน่นอน ซึ่งราคาสูงกว่าตลาดเท่าไรจะมีการถกเรื่องราคาที่รับซื้อในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 มกราคม 2559 รวมทั้ง อคส. จะหารือร่วมกันวางกรอบในการดำเนินการอย่างรวดเร็ว เชื่อทำให้ราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอน
3. สต๊อคยาง
- สต๊อคยางจีน ณ วันที่ 8 มกราคม 2559 เพิ่มขึ้น 7,030 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.82 อยู่ที่ 256,337 ตัน จากระดับ 249,307 ตัน เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2559
4. เศรษฐกิจโลก
- ธนาคารกลางจีนได้ปล่อยสินเชื่อจำนวน 4.973 พันล้านหยวน (754.4 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ) แก่ธนาคารภายในประเทศ จำนวน 31 แห่ง ภายใต้โครงการปล่อยกู้ ณ สิ้นปี 2558 เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารต่าง ๆ ปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และธนาคารจะเดินหน้านโยบายการเงินอย่างรอบคอบต่อไปในปีนี้ เพื่อสร้างภาวะการเงินที่มีความมั่นคง และรักษาสภาพคล่องในระดับที่เหมาะสม
- นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) จะปรับลดอัตราส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ก่อนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ เพื่อช่วยหนุนสภาพคล่องในระยะยาว
- ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาว่าด้วยจีนในเศรษฐกิจโลก (CCWE) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวลงจนถึงจุดต่ำสุดแล้ว และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นแตะร้อยละ 6.8 ในปี 2559
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อหลักขยายตัวร้อยละ 1.4 ในปี 2558 เมื่อเทียบกับปีก่อน ทำสถิตขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปี และต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 3.0 ที่รัฐบาลตั้งไว้ นอกจากนี้ยังต่ำกว่าตัวเลขปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 และร้อยละ 2.6 ปี 2556 ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อจีนชะลอตัวลงในปี 2558 บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาภายในประเทศ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเศรษฐกิจจีนเผชิญกับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องในปีนี้
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาแอตแลนตา กล่าวว่า ความเสี่ยงในระดับโลกซึ่งรวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและปรับตัวลงของราคาน้ำมัน เป็นความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
- องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ บ่งชี้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มสิ้นสุดลงในปีนี้ ขณะที่บราซิลเริ่มมีเสถียรภาพ โดยเปิดเผยว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจีนขยับขึ้นสู่ระดับ 98.4 ในเดือนพฤศจิกายน จาก 98.3 ในเดือนตุลาคม เป็นการปรับขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ส่งสัญญาณถึงการมีเสถียรภาพ
5. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 36.27 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.04 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 117.70 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.44 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
6. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปิดตลาดที่ 31.41 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.75 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลให้ความต้องการพลังงานในประเทศจีนซบเซาลงด้วย นอกจากนี้ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันในตลาดโลกจะสูงขึ้นอีก หากอิหร่านเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันในเร็ว ๆ นี้
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปิดที่ 31.55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 2.00 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- โกลด์ แมน แซคส์ ระบุว่าราคาน้ำมันดิบมีโอกาสปรับตัวลงแตะ 20 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล และหากราคาน้ำมันยังคงปรับตัวลงในไตรมาสแรกก็จะส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันปรับลดงบประมาณลง เพื่อสะท้อนถึงคาดการณ์ราคาน้ำมันที่ 40 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปีนี้ โดยราคาน้ำมันได้ลดลงมากกว่าร้อยละ 70 นับตั้งแต่ราคาเริ่มปรับตัวลงเมื่อกลางปี 2557 ท่ามกลางภาวะน้ำมันล้นตลาด
7. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 133.9 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 3.4 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ 147.2 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 2.3 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 113.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
8. ข่าว
- ราคาสัญญาทองแดงปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ในการซื้อขายที่ตลาดลอนดอน โดยได้รับแรงกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้ทองแดงมากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 45
- ดัชนีบ่งชี้ตลาดการจ้างงานในสหรัฐฯ ซึ่งสำรวจโดยคอนเฟอร์เรนซ์ บอร์ด ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.8 ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบเป็นรายเดือน อยู่ที่ 129.33 ขณะที่เมื่อเทียบเป็นรายปีดัชนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6
9. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางปรับตัวลดลงได้อีก ตามตลาดต่างประเทศและราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมาก ประกอบกับการถามซื้อมีน้อย ขณะที่ผู้ขายไม่อยากเก็บสินค้าไว้นานเกินไป จึงพยายามเร่งขายเพื่อป้องกันความเสี่ยง
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว โดยมีปัจจัยลบจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน หลังจากมีรายงานตัวเลขเงินเฟ้อออกมาน่าผิดหวัง บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาภายในประเทศ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเศรษฐกิจจีนยังเผชิญกับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่แห้งแล้งและเงินบาทที่อ่อนค่า ยังเป็นปัจจัยหนุนราคายางได้ในระดับหนึ่ง
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา