ข้อความโดย: Rakayang.Com
« เมื่อ: ธันวาคม 22, 2015, 09:12:50 PM »
กยท.ยันขายยางรัฐบาลจีน200,000 ตันเน้นรับซื้อจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรวันที่ 18 ธ.ค. 2558กยท.ยืน ยันขายยางให้รัฐบาลจีน 200,000 ตัน จะรับซื้อทั้งวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ยาง จากเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเป็นหลัก เอกชนแค่เสริมในส่วนที่ขาดเท่านั้น มั่นใจจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพด้านราคา สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้เกษตรกร พร้อมทุ่มงบอีก 600 ล้านบาทปรับปรุงโรงงานแปรรูปของ กยท.ทั้ง 6 แห่ง นายเชาว์ ทรงอาวุธ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ กยท. ทำสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ยางกับบริษัทซิโนเคม (SINOCHEM) ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีน ภายใต้กรอบความร่วมมือของคณะกรรมการบริหารร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า สินค้าเกษตรระหว่างไทย-จีน จำนวน 200,000 ตัน ซึ่งประกอบด้วยยางแผ่นรมควัน (RSS3) จำนวน 150,000 ตัน และยางแท่ง (STR 20) จำนวน 50,000 ตันนั้น ขณะนี้ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริการโครงการขายผลิตภัณฑ์ยางดังกล่าว ตลอดจนแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นดำเนินการทั้งการจัดหา การแปรรูป การควบคุมปริมาณยาง และการส่งมอบเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถส่งมอบยางล็อตแรกได้ประมาณเดือนมีนาคม 2559นี้อย่างแน่นอน โดยจะส่งมอบอย่างต่อเนื่องเดือนละประมาณ 16,667 ตัน รวมทั้งสิ้น 12 เดือน
สำหรับการจัดหาผลิตภัณฑ์ยางทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวนั้น ในส่วนของยางแผ่นรมควัน จะรับซื้อจากเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งที่แปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน ยางแผ่นรมควันอัดก่อนแล้ว และยางแผ่นดิบ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน ส่วนยางแท่ง STR 20 ก็เช่นเดียวกัน จะรับซื้อวัตถุดิบคือ ยางก้อนถ้วย ยางเครป จากเกษตรกรและสถานบันเกษตรกรชาวสวนยางเป็นหลัก เพื่อนำมาแปรรูปเป็นยางแท่ง โดยจะใช้โรงงานแปรรูป ของ กยท. ที่รับโอนมาจาก องค์การสวนยาง(อสย.) ก่อนที่จะส่งขายให้บริษัทซิโนเคม ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการ กยท.ได้อนุมัติงบประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อไปปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่องให้กับโรงงานแปรรูปยางของ กยท. จำนวน 6 โรงแล้ว
"กยท.ให้ความสำคัญกับเกษตรกรชาวสวนยาง และสถานบันเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นอันดับแรก หากสามารถรับซื้อยางได้จำนวนเพียงพอกับปริมาณที่บริษัทซิโนเคมต้องการ ก็จะไม่รับซื้อจากผู้ประกอบกิจการยางภาคเอกชนอื่นๆเลย ยกเว้นเมื่อรับซื้อจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั้งหมดแล้ว ยังมีปริมาณไม่เพียงพอ กยท.ถึงจะดำเนินการจัดซื้อจากผู้ประกอบกิจการยางภาคเอกชน เป็นครั้งๆไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร สถานบันเกษตรกรชาวสวนยาง ตลอดจนผู้ประกอบกิจการยาง ในช่วงที่ราคายางตกต่ำให้มีรายได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับราคายางในประเทศให้สูงขึ้น และที่สำคัญจะสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางให้มีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยุ่ที่ดีขึ้น" นายเชาว์กล่าว
ส่วนการจัดซื้อยางนั้น กยท.จะจัดซื้อผ่านทางกลไกตลาดกลาง และตลาดยางพาราท้องถิ่นของ กยท. ซึ่งมีถึง108 แห่งทั่วประเทศ โดยจะเป็นยางใหม่ทั้งหมด ไม่รับซื้อยางที่ค้างสต๊อก ส่วนราคาที่รับซื้อขายนั้น กยท. ได้เซ็นสัญญาตกลงกับบริษัทซิโนเคมว่า ยางแผ่นรมควันจะอ้างอิงราคาตลาดยางเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และตลาดยางโตคอม ประเทศญี่ปุ่น ส่วนยางแท่ง จะอ้างอิงราคาตลาดไซคอม ประเทศสิงค์โปร์ โดยจะเป็นราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 2 เดือนก่อนการส่งมอบยาง ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ กยท.จากการดำเนินโครงการนี้ได้ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาใช้ในการบริหาร การพัฒนา เพิ่มศักยภาพ และสร้างความมั่นคงให้กับยางพาราของไทยต่อไป
ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการ กยท. กล่าวต่อว่า การเซ็นสัญญาขายผลิตภัณฑ์ยางให้กับบริษัทซิโนเคม ตลอดจนการรับซื้อยางจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยางในครั้งนี้ เป็นการทำธุรกิจครั้งแรก หลังจากการจัดตั้ง กยท.ขึ้นมา ดูแลยางของประเทศครบวงจร ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมมือกันทำธุรกิจ ก่อนที่จะขยายผลจะต่อยอดเพิ่มความร่วมมือกันในอนาคต ดีกว่าที่จะมาเป็นคู่แข่งกันเอง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการผลผลิต กรรมวิธีการซื้อขายยางพาราของไทยให้มีมาตรฐานสากล และที่สำคัญจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพราคายางพารา ตลอดจนยังจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศอีกด้วย | |