ข้อความโดย: Rakayang.Com
« เมื่อ: มีนาคม 16, 2015, 11:04:08 AM »วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกมีพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกรรโชกแรงเกิดขึ้นในบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีอากาศร้อนในตอนกลางวันกับมีเมฆบางส่วน ไม่ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังแข็งแกร่ง และเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ พร้อมรับการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) สำหรับยอดผลิตภาพรวมปีนี้เชื่อว่าจะสามารถผลิตได้ถึง 2.15 - 2.20 ล้านคัน
3. สต๊อคยาง
- สต๊อคยางจีน ณ วันที่ 13 มีนาคม 2558 เพิ่มขึ้น 2 ตัน อยู่ที่ 156,505 ตัน จากระดับ 156,503 ตัน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558
- สต๊อคยางญี่ปุ่น ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 ลดลง 143 ตัน หรือลดลงร้อยละ 1.35 อยู่ที่ 10,435 ตัน จากระดับ 10,578 ตัน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558
4. เศรษฐกิจโลก
- ธนาคารกลางรัสเซียประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.0 สู่ร้อยละ 14.0 เพื่อลดความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่มีความรุนแรงมากขึ้น พร้อมระบุว่าธนาคารพร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกหากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อบรรเทาลง
- ผลสำรวจสำนักข่าวรอยเตอร์และมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เบื้องต้นเดือนมีนาคมลดลงสู่ระดับ 91.2 จาก 95.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ และต่ำกว่า 98.1 ในเดือนมกราคมซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี ส่วนดัชนีภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันลดลงสู่ 103.0 ในเดือนมีนาคม จาก 106.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจอนาคตอ่อนตัวลงสู่ 83.7 จาก 88.0
- หัวหน้าฝ่ายกิจการการเงินสหภาพยุโรป (EU.) กล่าวว่า ไม่ควรประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการที่กรีซออกจากยูโรโซนต่ำเกินไป ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบสกุลเงินยูโร
- นายกรัฐมนตรีเยอรมันกล่าวว่า แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจยุโรปและเยอรมันแข็งแกร่งขึ้นนับตั้งแต่ปลายปีทีแล้ว โดยได้รับแรงหนุนจากการลดลงของราคาน้ำมันและการผ่อนคลายนโยบายการเงิน
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลงพลิกความคาดหมายในเดือนกุมภาพันธ์ บ่งชี้ถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่ระดับต่ำ และบ่งชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะไม่รีบขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยดัชนี PPI สำหรับอุปสงค์ขั้นสุดท้ายลดลงร้อยละ 0.5 ในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบเป็นรายเดือน หลังจากที่ปรับตัวลงร้อยละ 0.8 ในเดือนมกราคม และเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน
- สภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นผ่านร่างงบประมาณประจำปี 2558 วงเงิน 96.34 ล้านล้านเยน (7.9347 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ) ซึ่งป็นวงเงินสูงเป็นประวัติการณ์ เพื่อแก้ปัญหาเงินฝืด โดยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
- กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดขาดดุลงบประมาณสหรัฐฯ เดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 1.923 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ จาก 1.935 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐในช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สำนักงบประมาณรัฐสภาสหรัฐฯ (CBO) คาดยอดขาดดุลงบประมาณปี 2558 จะอยู่ที่ 4.86 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ
5. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 32.91 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.07 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 121.27 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.15 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
6. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนเมษายน ปิดตลาดที่ 44.84 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 2.21 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันในตลาดโลกยังคงถ่วงตลาดน้ำมัน
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนเมษายน ปิดที่ 54.67 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 2.41 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA.) ระบุว่าสัปดาห์ที่แล้วปริมาณการผลิตน้ำมันสหรัฐฯ แตะ 9.366 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2526
7. การเก็งกำไร
- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนเมษายน อยู่ที่ 217.2 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.9 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 210.3 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 3.0 เยนต่อกิโลกรัม
- ตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 171.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 0.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
8. ข่าว
- บริษัทหลายแห่งในญี่ปุ่นตัดสินใจปรับเพิ่มค่าจ้าง หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างเพื่อหนุนอุปสงค์ที่ทรุดตัวลงภายหลังการปรับเพิ่มภาษีบริโภคเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว
9. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ
- ราคายางวันนี้น่าจะลดลงเล็กน้อยแม้ว่าผลผลิตยางจะมีน้อย เพราะส่วนมากหยุดกรีดในช่วงฤดูยางผลัดใบ แต่จากการที่ก่อนหน้านี้มีปริมาณยางจำนวนมากในตลาด รวมทั้งที่องค์การสวนยางซื้อไป ขณะที่ผู้ซื้อโดยเฉพะจีนยังคงซื้อเท่าเดิมหรือน้อยลงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงทำให้ในระยะนี้ยังคงขายยากมาก เห็นได้จากราคาตลาด SICOM ต่ำลงมาก
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ โดยมีปัจจัยบวกจากอุปทานยางที่ลดลงในช่วงฤดูยางผลัดใบ ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินเยนและเงินบาท ส่วนปัจจัยลบมาจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปีอีกครั้ง และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ย่ำแย่กว่าที่คาด รวมทั้งนักลงทุนระมัดระวังในการซื้อขาย เพื่อรอดูความชัดเจนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในสัปดาห์นี้
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา