ข้อความโดย: Rakayang.Com
« เมื่อ: มีนาคม 13, 2015, 11:43:14 AM »วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับลมกรรโชกแรงเกิดขึ้นบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน มีเมฆบางส่วน กับมีฝนตกบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ไม่ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- บริษัทวิจัยไอ เอช เอส ออโตโมทีฟ จากสหรัฐฯ คาดการณ์ถึงราคาน้ำมันที่ลดลงช่วยเพิ่มยอดจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลกร้อยละ 1.5 จนถึงปี 2562 และหากราคาน้ำมันยังสามารถคงระดับราคาเช่นนี้ไปได้ก็จะทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลกน่าจะเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 7 ล้านคันต่อปี
3. เศรษฐกิจโลก
- คณะกรรมการกำกับกฎระเบียบธนาคารของจีนเปิดเผยว่า คณะกรรมการได้ผ่อนคลายข้อกำหนดในการปล่อยเงินกู้สำหรับการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) เพื่อสนับสนุนการรวมตัวของภาคธุรกิจ ซึ่งจะช่วยลดภาวะประสิทธิภาพการผลิตที่มากเกินไปในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยสต๊อคสินค้าคงคลังภาคธุรกิจทรงตัวในเดือนมกราคม ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ส่วนยอดจำหน่ายภาคธุรกิจลดลงร้อยละ 2.0 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตังแต่เดือนมีนาคม 2552
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนเดือนมกราคมปรับตัวลดลงร้อยละ 0.1 จากเดือนธันวาคม แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนให้เห็นว่าการอ่อนค่าของสกุลเงินยูโรยังไม่ช่วยหนุนผู้ส่งออกอย่างเต็มที่ และย้ำเตือนว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคยังคงเปราะบาง
- ธนาคารกลางจีนเปิดเผยว่า ยอดการปล่อยเงินกู้รอบใหม่ของธนาคารพาณิชย์เดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 1.02 ล้านล้านหยวน ลดลงจาก 1.47 ล้านล้านหยวนเมื่อเดือนมกราคม แต่ยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ 7.6 แสนล้านหยวน
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF.) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อินเดีย เป็นร้อยละ 7.2 สำหรับปีงบประมาณปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมนี้ จากที่ก่อนหน้านี้ได้คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.6
- กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยผลสำรวจที่แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบริษัทรายใหญ่ญี่ปุ่นปรับตัวย่ำแย่ลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ซึ่งมีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 1 พันล้านเยนขึ้นไป อยู่ที่ +1.9 ลดลงจาก +5.0 ในไตรมาส 4 ปี 2557 ผลสำรวจบ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นกลุ่มผู้ผลิตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นย่ำแย่ลงอย่างมาก และมีแนวโน้มว่าความเชื่อมั่นจะยังคงเปราะบางในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือนกุมภาพันธ์ลดลงร้อยละ 0.6 อยู่ที่ 4.37 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ หลังจากลดลงร้อยละ 0.8 ในเดือนมกราคม โดยเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ราคานำเข้าสินค้าเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน บ่งชี้ถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่เกิดจากการดิ่งลงของราคาน้ำมันได้ชะลอตัวลงแล้ว
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 32.84 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.03 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 121.42 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.16 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนเมษายน ปิดตลาดที่ 47.05 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.12 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA.) เปิดเผยสต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดในสัปดาห์ที่แล้ว
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนเมษายน ปิดที่ 57.08 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.46 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
6. การเก็งกำไร
- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนเมษายน อยู่ที่ 215.1 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.8 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 211.6 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.3 เยนต่อกิโลกรัม
- ตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 172.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 มีนาคม 2558 ลดลง 36,000 ราย อยู่ที่ 289,000 ราย นับเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ
- ราคายางปรับตัวสูงขึ้นได้เล็กน้อย เพราะผลผลิตมีน้อยมาก ขณะที่โรงงานยังมีความต้องการซื้อเพื่อให้คนงานมีงานทำ และชดเชยสินค้าที่ส่งมอบไปก่อนหน้านี้ ประกอบกับก่อนหน้านี้ภาครัฐซื้อยางไปจำนวนมาก ทำให้หลายโรงงานซื้อได้น้อยมาก ในระยะนี้จึงต้องเร่งซื้อก่อนที่องค์การสวนยางจะกลับมาซื้ออีกครั้ง
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ ทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว โดยมีปัจจัยบวกจากนักลงทุนขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของจีน รวมทั้งมีมุมมองเชิงบวกต่อยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ที่ลดลงเกินคาดอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย กอปรกับอุปทานยางลดลงตามฤดูกาล และข่าวกระทรวงพาณิชย์ตกลงในหลักการเกี่ยวกับการขายยางพารากับรัฐบาลจีนยังเป็นปัจจัยสนับสนุนราคายาง ขณะที่ปัจจัยลบมาจากราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา