ข้อความโดย: Rakayang.Com
« เมื่อ: เมษายน 29, 2014, 01:55:46 PM »ยางราคาต่ำสุดในรอบ 4 ปี ระเบิดเวลา 'รัฐบาลใหม่'
วันอังคารที่ 29 เมษายน 2014 เวลา 10:50 น.
จากราคายางพาราในประเทศที่ตกต่ำมากสุดในรอบ 4 ปี (ดูตารางประกอบ)ในขณะนี้ รัฐบาลรักษาการคงไม่สามารถทำอะไรได้มาก เพราะอยู่ในช่วงนับถอยหลังรอวันสิ้นสภาพ โดยล่าสุดราคายางแผ่นดิบ น้ำยางสดทั้งในตลาดท้องถิ่น และราคาประมูลตลาดกลาง ราคาได้ลดต่ำกว่าระดับ 60 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ทั้ง ที่ในช่วงเดือนเมษายนปกติทุกปีจะเป็นช่วงที่ชาวสวนส่วนใหญ่หยุดกรีดยาง เนื่องจากเป็นช่วงยางผลัดใบ มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ราคาควรจะขยับขึ้นตามหลักดีมานด์-ซัพพลาย
คำถามคืออะไรเป็นสาเหตุ และหากในช่วงตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนนี้ชาวสวนทั่วประเทศเริ่มกรีดยางรอบใหม่ ผลผลิตจะยิ่งออกมามากยางจะยิ่งราคาตก และจะเกิดการประท้วงซ้ำซากเหมือนในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่?
-ปัจจัยภายนอกซัดกระหน่ำ
ทั้งนี้จากการสอบถามผู้รู้ในวงการระบุสาเหตุยางราคาตกต่ำในครั้งนี้มาจาก หลายสาเหตุทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ โดยปัจจัยภายนอกที่สำคัญ เป็นผลสืบเนื่องจากเศรษฐกิจของ 3 ตลาดใหญ่ของโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ความต้องการสินค้าไม่เพิ่มมาก ขณะที่จีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก และเป็นผู้ใช้รายใหญ่สินค้ายางพาราจากไทยสัดส่วนกว่า 50% เศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว อีกทั้งมีสต๊อกยางในประเทศมากกว่า 3.5 แสนตันทำให้ชะลอการซื้อหรือซื้อเท่าที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น
อีกด้านหนึ่ง วรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)ที่ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ก่อนหน้านี้ว่า จากการที่รัฐบาลได้ยกเลิกการเก็บเงินสงเคราะห์เกษตรกรจากผู้ส่งออกยางพารา หรือเงินเซสส์ เป็นเวลา 4 เดือน (ก.ย.-ธ.ค.56) เพื่อช่วยผู้ส่งออกลดภาระ เพื่อให้มีเงินไปช่วยรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรเพิ่มขึ้นช่วยแก้ปัญหายางราคา ตกต่ำนั้น
ส่วนหนึ่งมีผลให้ผู้ส่งออกยางพาราหลายรายร่วมกับพ่อค้าจีนปั้นดีมานด์เทียม ตัวเลขส่งออกล่วงหน้าเพื่อหลบเลี่ยงจ่ายเงินเซสส์หลังสิ้นสุดเวลายกเลิกจัด เก็บชั่วคราว โดยกว้านซื้อยางพาราคาในราคาต่ำเพื่อหวังฟันกำไรช่วงยางพาราขาขึ้น แต่เวลานี้กลับต้องผิดหวัง เพราะราคายางตลาดโลก และราคายางที่จีนดำดิ่งต่ำกว่าราคาที่ประเทศไทย ทำให้ขายไม่ออก และถูกปลายทางบีบขายราคาต่ำ
-ตลาดล่วงหน้าจีน-ญี่ปุ่นเทขาย
ขณะที่ อุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาคการเงินการคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ราคายางพาราตกต่ำยังเป็นผลจากตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าที่จีน และญี่ปุ่นในเวลานี้ได้มีแรงเทขายยางพาราจำนวนมาก เป็นผลจากการเก็งกำไรเพื่อสร้างโอกาสให้บริษัทตัวเองซื้อของในราคาที่ถูกลง มีผลให้ราคายางลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังเป็นผลจากจากบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (IRCo) ที่มีไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็น 3 ประเทศผู้ผลิต และส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลกถือหุ้นร่วมกันเป้าหมายเพื่อทำงานในการแก้ไข ปัญหายางพาราล้นตลาดและราคาตกร่วมกัน ที่ผ่านมา IRCo ก็ไม่สามารถแทรกแซงราคายางในตลาดโลกได้ แต่ทุกประเทศได้หันไปเน้นการกระตุ้นการใช้ยางในประเทศ และบริหารจัดการสต๊อกแทน ซึ่งหากบริหารลักษณะนี้มองว่าไม่จำเป็นต้องมีบริษัทดังกล่าวก็ได้
-เทขายยาง 2.1แสนตันทุบซ้ำ
ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยได้ปล่อยข่าวจะมีการเทขายยางในสต๊อกที่ได้ ไปแทรกแซงราคามากว่า 2.1 แสนตันเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ต่างๆ ยิ่งซ้ำเติมด้านจิตวิทยาทำให้ราคายางในตลาดโลกลดลง มองว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้มีโอกาสที่ราคายางพาราในประเทศจะหลุดต่ำ กว่า 50 บาทต่อกิโลกรัมในอนาคตอันใกล้
ส่วนไชยยศ สินเจริญกุล นายกสมาคมยางพาราไทย ให้ความเห็นในเรื่องเดียวกันว่า แม้ราคายางพาราจะตกต่ำเป็นโอกาสของผู้ส่งออกซื้อเก็บสต๊อกเพื่อเก็งกำไร แต่ในข้อเท็จจริงเวลานี้ผู้ส่งออกไม่กล้าสต๊อกมากเพราะกลัวขายไม่ออก จะซื้อเท่าที่จำเป็นต้องสต๊อก และเพื่อการส่งมอบให้ลูกค้าเท่านั้น
-ซัพพลายในประเทศพุ่ง
ส่วนปัจจัยภายในที่จะส่งผลกระทบ สืบเนื่องจากเวลานี้ประเทศไทยมีการปลูกยาง และมีพื้นที่กรีดยางมากขึ้น โดยจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)ในปี 2556 ที่ผ่านมา ไทยมีเนื้อที่ยางยืนต้นทั้งสิ้น 22.17 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นเนื้อที่กรีดยางได้ 15.13 ล้านไร่ ให้ผลผลิต 3.86 ล้านตัน ส่วนในปี 2557 คาดมีเนื้อที่กรีดยางได้เพิ่มเป็น 15.84 ล้านไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 4.02 ล้านตัน จะเป็นการซ้ำเติมให้ราคายางตกต่ำลงหากไม่สามารถหาตลาดรองรับได้อย่างเพียงพอ
ขณะที่จากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 ที่ได้อนุมัติมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำโดยนอกจากสนับสนุนค่าปัจจัย การผลิต 2.520 บาทต่อไร่(ไม่เกินรายละ 25 ไร่) แล้ว ยังมีมติจะสนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรนวงเงิน 5 พันล้านบาท เพื่อให้สถาบันเกษตรกรที่มีศักยภาพไปจัดตั้งโรงงานแปรรูปยางเบื้องต้นเพิ่ม รวมถึงมอบหมายให้ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูป ยางพารา ไปขยายกำลังการผลิต และปรับเปลี่ยนเครื่องจักรวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทก็ยังไม่มีความคืบหน้าทำให้การใช้ยางในประเทศไม่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันจากที่รัฐบาลมีแผนจะระบายสต๊อกยาง 2.1 แสนตัน โดยส่วนหนึ่งได้ให้กระทรวงต่างๆ ชงแผนใช้ยางพาราในโครงการต่างๆ ซึ่งได้ส่งแผนไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2556 รวมทั้งสิ้น 48 โครงการ จาก 7 กระทรวง ปริมาณยางที่คาดว่าจะใช้รวม 6.71 พันตัน แผนงานก็ยังไม่มีความคืบหน้าเช่นกัน
-ชาวสวนเตรียมเคลื่อนไหว
ต่อราคายางพาราที่ตกต่ำสุดในรอบ 4 ปี หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า เหตุใดชาวสวนยางจึงไม่ออกมาเคลื่อนไหวในเวลานี้ ซึ่งจากการสอบถามตัวแทนชาวสวนยางในทุกภาคของประเทศ ได้คำตอบที่คล้ายกันว่า ขณะนี้(ปลายเมษายน)ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นกรีดยางรอบใหม่หลังปิดกรีดในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาจากเป็นช่วงหน้าแล้งยางผลัดใบให้น้ำยางน้อย ทำให้ยังมีผลผลิตน้อย แต่ในช่วงจากนี้ไปผลผลิตจะเริ่มออกมามากจะมีปัญหาแน่ โดยประสาร จันทร ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จ.สุราษฎร์ธานีแหล่งปลูกและกรีดยางใหญ่สุดของประเทศ เผยว่า จากที่มีโอกาสได้ร่วมประชุมกับนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเกษตรฯเมื่อต้นเดือนเมษายน ตัวแทนเกษตรกรได้ขอให้รัฐบาลได้เตรียมแผนรองรับราคายางตกต่ำให้ดี เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเกรงจะเกิดม็อบขึ้นอีก
ส่วนอดุลย์ โคตรพันธุ์ ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จ.อุบลราชธานีเผยว่าขณะนี้เป็นช่วงกรีดยางรอบใหม่ต้นยางยังให้น้ำยางไม่มาก เพราะฝนยังน้อย ยางที่ได้ส่วนใหญ่เป็นยางก้อนถ้วยราคาในพื้นที่ขณะนี้ 16-17 บาทต่อกิโลกรัมต่ำสุดรอบ 10 ปี มองว่าเมื่อผลผลิตยางออกมามากหากรัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือราคายางภาพรวมมี สิทธิ์ต่ำกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม จากต้นทุนปัจจุบันเฉลี่ยที่ 58-63 บาทต่อกิโลกรัมถือว่าขาดทุน
ขณะที่อุดม อมยิ้ม ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ราคายางเวลานี้รูดลงอย่างน่าใจหาย มองว่าเป็นผลจากที่ผ่านมารัฐบาลไม่ใส่ใจแก้ปัญหาทั้งระบบอย่างจริงจัง ซึ่งระหว่างวันที่ 28 เมษายน-1 พฤษภาคมนี้ ทางสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดประชุมร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางทั่ว ประเทศที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อจัดทำแผนเชิงรุกและเชิงรับอุตสาหกรรมยางพาราต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อ เตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) รวมถึงแผนรับมือยางพาราตกต่ำเพื่อนำเสนอต่อว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ต่อไป
สถานการณ์ราคายางพารายังน่าเป็นห่วง ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกร เรื่องนี้เปรียบเสมือนระเบิดที่รอว่าที่รัฐบาลใหม่เข้ามากอบกู้วิกฤติก่อนจะ เกิดเหตุบานปลายในรอบใหม่ซ้ำรอยในช่วงที่ผ่านมาอีกครั้ง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ(วันที่ 29 เมย.57)