ข้อความโดย: Rakayang.Com
« เมื่อ: เมษายน 18, 2014, 01:16:06 PM »วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2557
ปัจจัยวิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ- ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ส่วนภาคใต้มีเมฆเป็นส่วนมาก มีฝนตกหนักบางแห่ง ร้อยละ 30 - 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
2. การใช้ยาสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์จีนแถลงว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ในจีนซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดของโลกชะลอตัวอย่างรวดเร็วในเดือนมีนาคม โดยมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 2.17 ล้านคัน นับเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากร้อยละ 17.8 ในเดือนกุมภาพันธ์- สมาคมผู้ผลิตยางล้อแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยตัวเลขยอดจำหน่ายของสมาชิกไตรมาสแรกปี 2557 โดยยอดจำหน่ายยางล้อเกือบทุกกลุ่มมีการขยายตัวร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา- สมาคมอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศอินเดีย (The All India Rubber Industries Association: AIRIA) เปิดเผยว่า รัฐบาลอินเดียได้ตัดสินใจที่จะประยุกต์ใช้นโยบายยางแห่งชาติ (National Policy on Rubber: NPoR) ซึ่งพัฒนาโดยสมาคมฯ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตยางพาราอย่างยั่งยืนของประเทศ โดยนโยบายยางพาราแห่งชาติมีเป้าหมายที่สำคัญ 3 ประการคือ
(1) สร้างความเป็นปึกแผ่นของอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศทั้งวงจร
(2) สร้างประเทศให้เป็นผู้นำด้านการผลิตและการใช้ยางพารา ทั้งตลาดต่างประเทศและภายในประเทศ
(3) ปรับอุตสาหกรรมยางพาราของอินเดียให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ
3. เศรษฐกิจโลก- กระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผยว่า ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เดือนมีนาคมลดลงร้อยละ 1.47 เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 1.224 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ สำหรับไตรมาสแรกปี 2557 เม็ดเงิน FDI เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 3.156 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ- หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า เศรษฐกิจจีนจะ
ไม่เผชิญกับภาวะ Hard Landing หรือภาวะทรุดตัวรุนแรง แม้ว่าข้อมูลล่าสุดชี้ว่าอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2555 พร้อมกล่าวว่ารัฐบาลจีนจะใช้มาตรการเพื่อหนุนการขยายตัวของ GDP ตามที่นักลงทุนคาดไว้ แต่ยังวิตกถึงความเสี่ยงในตลาดอสังหาริมทรัพย์และหนี้สูญ- รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศปรับลดประเมินเศรษฐกิจพื้นฐานครั้งแรกในรอบ 17 เดือน เพราะการใช้จ่ายผู้บริโภคอ่อนตัวลง หลังมีการปรับขึ้นภาษีการบริโภคเบื้องต้นเดือนเมษายน โดยระบุว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวปานกลาง แต่ระยะหลังพบว่าความเคลื่อนไหวบางอย่างที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอหลังมีการขึ้นภาษีการบริโภคจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 อาจกระทบต่อการแก้ปัญหาเงินฝืดที่ดำเนินมายาวนานเกือบ 20 ปี- นายกรัฐมนตรีจีนระบุว่า รัฐบาลจีนไม่มีการพิจารณาใช้มาตรการกระตุ้นที่แข็งแกร่ง และย้ำว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงหรือต่ำกว่าร้อยละ 7.5 เล็กน้อยนั้น ถือเป็นระดับที่สมเหตุสมผล
4. อัตราแลกเปลี่ย- เงินบาทอยู่ที่ 32.18 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.04 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ- เงินเยนอยู่ที่ 102.48 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.46 เยนต่อดอลล่าร์สหรั
5. ราคาน้ำมัน- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนพฤษภาคม ปิดตลาดที่ 104.30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ชี้ให้เห็นว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะฟื้นตัว
6. การเก็งกำไร- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 214.6 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 3.1 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนกันยายน อยู่ที่ 210.5 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 4.4 เยนต่อกิโลกรัม- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 220.9 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 4.1 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 12 เมษายน 2557 เพิ่มขึ้น 2,000 ราย อยู่ที่ 304,000 ราย น้อยกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 315,000 ราย
8. ข้อคิดเห็นของ ผู้ประกอบกา- ราคายางปรับตัวลดลง เพราะการส่งออกค่อนข้างซบเซา ไม่มีปัจจัยบวก ขณะที่สินค้าที่ขายไปก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการหลายรายกล่าวว่ามีการผิดสัญญาส่งมอบ โดยมีทั้งไม่รับสินค้าและเลื่อนการส่งมอบแนวโน้มราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ยางของจีน หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจของจีนเดือนมีนาคม ทั้งการส่งออก การนำเข้า และการลงทุนจากต่างประเทศ ปรับตัวลดลงเกินคาด ประกอบกับสต๊อคยาง ณ ท่าเรือชิงเต่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ราคายางยังได้รับแรงกดดันหลังวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์จะเริ่มเปิดกรีดยางได้ทั่วประเทศ ส่งผลให้ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และเงินเยนอ่อนค่าลง ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนราคายางได้ในระดับหนึ่ง
คณะทำงานวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดและราคายาง สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา